พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันพุธที่ 20 มกราคม 2559 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีประเด็นที่สำคัญสรุปดังนี้
เรื่องที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุม
- จดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่ทุกวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือนนั้น ขอให้สำนักโฆษกของแต่ละกระทรวงช่วยนำไปเผยแพร่และขยายผลต่อเนื่องต่อไปด้วย
- การดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ดำเนินการเพื่อวางระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยนำจากเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 3G/4G ช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้พลิกโฉมการพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว จากปัจจุบันที่ภาคเอกชนทำครอบคลุมทั่วประเทศไปบ้างแล้วร้อยละ 53 แต่รัฐบาลก็จะได้นำเงินรายได้นี้ไปขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มอีก 47% ให้ครอบคุลมทั้งประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดเตรียมแผนงานโครงการบูรณาการ ICT เพื่อการศึกษาไว้แล้ว
- การให้การช่วยเหลือชาวสวนยางพารา ซึ่งดำเนินการตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายรองรับไว้แล้ว โดยการดำเนินการของรัฐจะเป็นไปด้วยความสุจริตในการจัดการ มีการแจ้งให้ สตง.และ ป.ป.ช.รับทราบขั้นตอนการดำเนินงานเป็นระยะ และสังคมสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ในส่วนของการนำยางพารามาใช้ในภาคการศึกษา เช่น พื้นสนามเด็กเล่น หรือสนามกีฬา จะต้องดำเนินการด้านต่างๆ ให้โปร่งใส ไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน
- การเผยแพร่แอพพลิเคชั่นภาษาอังกฤษผ่านหน้าเว็บไซต์ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพจัดวางแอพพลิเคชั่นด้านการเรียนรู้ภาษาอังกฤษไว้ที่หน้าเว็บไซต์ของทุกหน่วยงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนและประชาชน สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้โดยง่าย โดยให้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่าการใช้ดิกชันนารีอังกฤษ-ไทย ยังคงมีความสำคัญสำหรับนักเรียนนอกเหนือไปจากการค้นหาคำศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต เพราะการค้นหาคำศัพท์ในดิกชันนารีนอกจากจะช่วยให้เด็กค้นหาคำศัพท์ได้ด้วยตนเองแล้ว ยังสามารถฝึกให้เด็กทั้งด้านการสังเกต ความเร็วในการค้นหา และจำเป็นสำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ อาจนำไปจัดทำเป็นกิจกรรมให้นักเรียนแข่งขันเปิดค้นหาคำศัพท์ต่างๆ ในดิกชันนารีได้ เป็นต้น
เรื่องที่ รมว.ศึกษาธิการ สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
- การสื่อสารข้อมูลข่าวสารนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการไปยังครูผู้สอน ต้องการให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์/สำนักโฆษกกระทรวงได้พัฒนาระบบการสื่อสารแนวทางนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ กระจายไปยังครูผู้สอน โดยเฉพาะครูที่อยู่ห่างไกลได้รับทราบแนวทางการดำเนินงานจากรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในหลากหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ของทุกหน่วยงาน สื่อวิทยุ โทรทัศน์ เอกสารสิ่งพิมพ์ ฯลฯ โดยอาจจะต้องรวบรวมและแลกเปลี่ยนเนื้อหา (Contents) ในการสื่อสารให้เหมาะสมในแต่ละช่วงระยะเวลา ซึ่งมั่นใจว่าผู้บริหารโรงเรียนจะเป็น Key Factor ที่สำคัญที่สุดในการเผยแพร่และสื่อสารนโยบายต่างๆ โดยตรงไปยังครูผู้สอน แต่จะต้องไม่เป็นการสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับครูผู้สอน
- การใช้แผนที่ความคิด (Mind Map) ตามอริยสัจ4 โดยขอให้ทุกหน่วยงานใช้หลักอริยสัจ 4 เป็นคัมภีร์ในการทำงานและขับเคลื่อนงานตามนโยบาย เพราะแต่ละหน่วยงานย่อมมีปัญหาแตกต่างกัน การใช้หลักอริยสัจ 4 จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพราะจะช่วยให้หน่วยงานหาปัญหาให้เจอ และจัดกลุ่มเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ ได้ ซึ่งแนวทางของอริยสัจ4 ได้แก่ ทุกข์-สภาพปัญหา, สมุทัย-สาเหตุของปัญหา, นิโรธ-วิธีการแก้ปัญหา, มรรค-แนวปฏิบัติ โดยขอให้ทุกหน่วยงานจัดทำ Mind Map การทำงานให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคมนี้
- การบริหารงานของร้านค้าขององค์การค้าของ สกสค. จากการที่คณะทำงานลงไปสังเกตการณ์ร้านค้าขององค์การค้าของ สกสค.ในช่วงที่ผ่านมา 2 แห่งจากทั้งหมด 9 แห่ง พบว่าร้านค้าองค์การค้าฯ ไม่มีสินค้าเกี่ยวกับเครื่องหมายลูกเสือยุวกาชาดจำหน่าย ทั้งที่องค์การค้าฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เครื่องหมายลูกเสือยุวกาชาดเอง ในขณะที่ร้านค้าใกล้เคียงมีสินค้าจำหน่าย จึงฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแก้ปัญหาการบริหารจัดการดังกล่าว รวมทั้งการขายสินค้าที่ต้องคำนึงถึงราคาที่ถูกและเหมาะสมกับท้องตลาด รวมทั้งระยะเวลาเปิดปิดร้านค้าที่เหมาะสม เพราะหลายแห่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมาก ซึ่งจะส่งผลให้ร้านค้าทำกำไรได้มากขึ้น อันจะช่วยลดการสะสมการขาดทุนขององค์การค้าของ สกสค.ด้วย
- แผนการศึกษาชาติ 20 ปี โดยขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ร่างแผนให้เป็นแผนที่จับต้องได้ มียุทธศาสตร์การทำงานที่ชัดเจน สื่อสารกับบริบทของประเทศได้ในอนาคต และสอดคล้องกับแผนบูรณาการการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และที่สำคัญต้องมองภาพสุดท้ายใน 20 ปีข้างหน้าว่าเด็กไทยจะมีคุณลักษณะอย่างไรบ้างในช่วงเวลานั้น
- การดำเนินงานของคณะกรรมการประสานพลังประชารัฐ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ภาครัฐ) จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับ 2 คณะ คือ คณะที่ 4 : คณะกรรมการด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) ซึ่งมีเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธาน และคณะที่ 11 ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development) ซึ่งมีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธาน โดยจะทำงานร่วมกับคณะกรรมการฯ ภาคเอกชน รวมทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนประสานพลังประชารัฐภาครัฐ ซึ่งมีเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน อย่างใกล้ชิด โดยจะมีการลงนามความร่วมมือทั้ง 2 คณะในวันที่ 21 มกราคม และ 28 มกราคม 2559 ตามลำดับ หลังจากนั้นจะมีกรอบแนวทางการทำงานของภาครัฐที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการเข้ามาสนับสนุนสถานศึกษาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ภาคเอกชนจะเข้ามาสนับสนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพในโรงเรียนกว่า 7,424 โรงเรียนทั่วประเทศ
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการด้วยว่า ในส่วนของกรมวิชาการและอาชีวศึกษาเอกชนนั้น ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว หากมีความจำเป็นอาจจะต้องใช้มาตรา 44 ดำเนินการ ส่วนการจัดโครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ทันภายใน Roadmap ของรัฐบาลชุดนี้
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 20 มกราคม 2559