รมว.ศึกษาธิการ ตามติดคดี สกสค. จี้ตำรวจเอาผิดผู้เกี่ยวข้องอีก 18 ราย ย้ำใครทำผิดหนีไม่รอด ชี้ต้องเอาเงินครูกลับคืนครู
วันนี้(20 ม.ค.)จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษฎา หรือเสี่ยบิ๊ก เจ้าของบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด กรณีการทุจริตเงินสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ทำธุรกรรมทางการเงินกับกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการเงินสวัสดิการเงินกู้กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันปลอมตั๋วเงิน และใช้ตั๋วเงินปลอม ร่วมกันฉ้อโกงร่วมกันออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค นั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นอกจากนายสัมฤทธิ์ แล้วยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อีกประมาณ 18 ราย โดยเป็นกรรมการบริษัท บิลเลี่ยนฯ 9 ราย และเป็นอดีตคณะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนฯและอดีตผู้บริหารสกสค. อีก 9 ราย อีก ซึ่งทุกเรื่องและทุกคดีต้องเร่งรัด โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งตนรับรองได้ว่า ถ้าใครทำไม่ถูก ก็ต้องมีความผิดหนีไม่รอดแน่นอน ปัจจุบันนี้สามารถติดตามได้หมดว่าเงินทองหายไปอยู่ที่ไหน เราต้องพยายามเอาคืนมา เพราะเป็นเงินของครู จะหายไปไม่ได้
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนความคืบหน้ากรณี สกสค.ยื่นโนติส แจ้งให้สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ดำเนินการคืนเงินจำนวน 2,100 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7% ตามกฎหมายให้แก่สกสค. เนื่องจากตรวจสอบพบแล้วว่า มีการอนุมัติ ปิดบัญชีและเบิกถอนเงินของ สกสค.ที่ฝากไว้กับธนาคารดังกล่าวอย่างไม่ถูกต้อง แต่สถาบันการเงินได้ส่งหนังสือตอบกลับ สกสค. โดยยืนยันว่า การดำเนินการอนุมัติเบิกถอนเงิน และปิดบัญชีเป็นไปอย่างถูกต้องนั้น ตนทราบว่า สถาบันการเงินได้ตอบกลับมาแล้ว และ สกสค.กำลังตรวจรายละเอียดอยู่ว่า สิ่งที่สถาบันการเงินตอบมานั้นครอบคลุมหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่ตอบมาว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง ก็ต้องไปดูว่าถูกต้องอย่างไร มีการลงรายละเอียด ไม่ใช่บอกว่าถูกต้องอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่า สถาบันการเงินมองอย่างไร และฝ่ายกฎหมายของเรามองอย่างไร ส่วนเรื่องการฟ้องแพ่งเพื่อเรียกเงินคืนนั้น ถ้าเรามีข้อมูลถูกต้อง ก็ต้องทำแน่ ถ้าไม่ทำก็เท่ากับตนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นยืนยันว่า อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ต้องฟ้อง ซึ่งก็ต้องคุยกับทางสถาบันการเงินก่อนว่า จะมีท่าทีอย่างไร
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 มกราคม 2559