ยันต้องทวงเงินแบงก์ที่โอนเงินให้บิลเลี่ยนฯเพราะสตง.ระบุทำผิดกฎหมาย
"พินิจศักดิ์" เผย สกสค.เสียหายจากกรณีทุจริต บ.บิลเลี่ยนฯ มูลค่าโดยรวมประมาณ 3 พันล้าน ยันต้องทวงเงิน 2.1 พันล้านพร้อมดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินที่อนุมัติถอนเงิน เป็นไปตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุเป็นการทำผิดกฎหมาย เพราะผู้เซ็นอนุมัติให้ปิดบัญชีไม่มีอำนาจ
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาฯ ก.ค.ศ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี สกสค.ยื่นโนติส แจ้งให้สถาบันการเงินแห่งหนึ่งดำเนินการคืนเงินจำนวน 2,100 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้กับ สกสค. เนื่องจากตรวจสอบพบแล้วว่ามีการอนุมัติปิดบัญชีและเบิกถอนเงินของ สกสค.ที่ฝากไว้กับธนาคารดังกล่าวอย่างไม่ถูกต้อง ล่าสุด สถาบันการเงินได้ส่งหนังสือถึง สกสค. ยืนยันว่าการดำเนินการอนุมัติเบิกถอนเงินและปิดบัญชีเป็นไปอย่างถูกต้องนั้น ตนได้รายงานให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) รับทราบแล้ว โดยธนาคารดังกล่าวยืนยันว่าผู้อนุมัติให้เบิกถอนเงินและปิดบัญชีมีอำนาจอย่างถูกต้อง แต่ทาง สกสค.ยืนยันตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ชี้มาว่า ผู้เซ็นอนุมัติให้ปิดบัญชีและโอนเงินเข้าบัญชี บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป ไม่ใช่ผู้มีอำนาจ เพราะไม่ได้เป็นหัวหน้าหน่วยงานและไม่ได้รับมอบอำนาจ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องสู้กัน โดยขณะนี้เข้าใจว่าทางหัวหน้าคณะทำงานของ รมว.ศธ.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะเสนอให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ สั่งการว่าจะดำเนินการในเรื่องใด เพราะหากเราพิจารณาและตัดสินเองอาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้
ส่วนความคืบหน้าการยื่นเรื่องเพื่อขอยึดทรัพย์สินของบริษัท บิลเลี่ยนฯ และอดีตผู้บริหาร สกสค. และกรรมการกองทุนฯ ที่ถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดไว้ให้ตกเป็นของ สกสค.นั้น ล่าสุด สกสค.ได้ยื่นหนังสือผ่าน ปปง.เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ทรัพย์สินที่ ปปง.อายัดประมาณ 400 กว่าล้านบาทไว้ตกเป็นของ สกสค. เพราะ สกสค.เป็นผู้เสียหายตามขั้นตอนตามกฎหมายแล้ว จากนั้นต้องรอการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เงินทั้งหมดที่เป็นของ สกสค.ควรจะได้รับคืนมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ถูกอายัด หรือเงินที่ขอให้ทางธนาคารแห่งหนึ่งคืนจำนวน 2,100 ล้านบาท พร้อมบวกอัตราดอกเบี้ยอัตรา 7% ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท
นายพินิจศักดิ์กล่าวถึงประเด็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา เจ้าของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด โดยกล่าวหาว่าร่วมกันปลอมตั๋วเงิน และใช้ตั๋วเงินปลอม ร่วมกันฉ้อโกงร่วมกันออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ว่า ตนไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับนายสัมฤทธิ์ในข้อหาใด เพราะ สกสค.แจ้งความเอาผิดกับนายสัมฤทธิ์และกรรมการ บ.บิลเลี่ยนฯ จำนวน 9 ราย พร้อมอดีตผู้บริหาร สกสค. และอดีตคณะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ของกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่อนุมัติซื้อตั๋วสัญญาจากบริษัท บิลเลี่ยนฯ จำนวน 2.1 พันล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี อีกจำนวน 9 ราย รวมทั้งหมด 18 ราย
โดยขณะนี้กำลังให้ฝ่ายกฎหมายของ สกสค.รวบรวมคดีต่างๆ ที่ สกสค.ได้ดำเนินการแจ้งความไปมาตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นเท่าที่มีข้อมูล สกสค.ได้แจ้งความเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ว่าได้พบหลักทรัพย์ซึ่งประกอบด้วย ธนบัตรของประเทศโครเอเชีย มูลค่าประมาณ 5 พันล้านบาท ดราฟต์ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (HSBC) ประเทศไทย มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เช็คเงินสดของธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 2,100 ล้านบาท โฉนดที่ดินมูลค่า 30 กว่าล้านบาท ครั้งที่ 2 วันที่ 14 พฤษภาคม 2558 แจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่าได้เคลื่อนย้ายหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันทั้งหมดไปไว้ที่ห้องมั่นคง ครั้งที่ 3 วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 แจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่าครบกำหนดที่บริษัท บิลเลี่ยนฯ จะต้องชำระเงินตามตั๋วสัญญา จำนวน 2,100 ล้านบาท และจำนวน 400 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัท บิลเลี่ยนฯ ได้มาขอเพิ่มจาก สกสค. โดยอ้างว่าหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันมีมูลค่าสูงกว่า 2,100 ล้านบาทที่นำไปลงทุน รวม 2,500 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ชำระคืนตามกำหนด ครั้งที่ 4 วันที่ 21 พฤษภาคม 2558 แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้บริหารกองทุนเงินสนับสนุนฯ 2 ราย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ครั้งที่ 5 วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ สำเนาหนังสือที่ สกสค.ส่งถึงธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (HSBC) ประเทศไทย เพื่อสอบถามกรณีดราฟต์ มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และเช็คเงินสดของธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 2,100 ล้านบาท รวมถึงหนังสือที่ทางธนาคารทั้งสองแห่งตอบกลับมา ครั้งที่ 6 วันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ร้องทุกข์กล่าวโทษกรรมการผู้จัดการบริษัท บิลเลี่ยนฯ ในความผิดปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม และความผิดฐานฉ้อโกง และจากนั้นวันที่ 2 มิถุนายน 2558 มีหนังสือถึงบริษัท บิลเลี่ยนฯ ให้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ครั้งที่ 7 วันที่ 5 มิถุนายน 2558 แจ้งความร้องทุกข์กับบริษัท บิลเลี่ยนฯ กรณีออกเช็คสั่งจ่ายให้กับกองทุนสนับสนุนฯ จำนวน 2,100 ล้านบาท โดยทางธนาคารเจ้าของเช็คจำนวนดังกล่าวแจ้งว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย จากนั้นวันที่ 8 มิถุนายน 2558 มีหนังสือแจ้งกรรมการบริษัท บิลเลี่ยนฯ ให้ชำระหนี้จำนวน 2,500 ล้านบาท ในฐานะผู้ค้ำประกัน
ครั้งที่ 8 วันที่ 9 มิถุนายน 2558 แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ ในฐานะนิติบุคคล และแจ้งความกรรมการบริษัท บิลเลี่ยนฯ ในข้อหาออกเช็ค โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ครั้งที่ 9 วันที่ 17 มิถุนายน 2558 ในข้อหาเดียวกับครั้งที่ 8 แต่เพิ่มข้อหาร่วมกันปลอมแปลงตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอม และร่วมกันฉ้อโกง และครั้งที่ 10 วันที่ 1 ธันวาคม 2558 แจ้งความในความผิดฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และฐานร่วมกันฉ้อโกง
"ตอนนี้ทาง สกสค.เองยังไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมนายสัมฤทธิ์ด้วยข้อหาอะไร ทาง สกสค.คงต้องประสานรายละเอียดไปว่าออกหมายจับในข้อหาใดบ้าง หากทางตำรวจต้องการเอกสาร หลักฐานใดเพิ่มเติม เราก็ยินดีอำนวยความสะดวก แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อมา" ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ สกสค.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 20 มกราคม 2559
http://www.thaipost.net/?q=ทุจริตสกสคเสียหายยับ3พันล้าน