อาจารย์มหา’ลัย วอนศธ. ก่อนปรับหลักสูตรคิดให้ดีก่อน ชี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวหลักสูตร แต่อยู่ที่การนำไปปฎิบัติ แนะดูผลงานวิจัย -รอทำแผนการศึกษาชาติเสร็จก่อน เพื่อหลักสูตรจะได้สอดรับกัน
วันนี้(18 ม.ค.)ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)มีแนวคิดปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยวางกรอบเวลาการจัดทำหลักสูตรใหม่จะต้องแล้วเสร็จและเริ่มทดลองใช้ในภาคเรียนที่ 2/2559 ว่า ในการปรับหลักสูตรนั้นอยากให้ดูผลการวิจัยเรื่องการศึกษาสภาพปัญหา ปัจจัยความสำเร็จและแนวทางการขับเคลื่อนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 สู่การปฎิบัติ ที่พบว่าหลักสูตรไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการนำหลักสูตรแกนกลางไปสู่การปฎิบัติ ได้แก่
1.การสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำหลักสูตรแกนกลางไปสู่หลักสูตรสถานศึกษา และแผนการจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียน
2. แบบเรียนหรือหนังสือเรียนควรมีการปรับปรุงให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำหลักสูตรแกนกลางลงสู่ครูผู้สอน
ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวต่อไปว่า
ปัญหาที่ 3 เป็นเรื่องของการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เนื่องจากปัจจุบันแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในสถานศึกษาแต่ละแห่งกับแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ตไม่สอดคล้องกัน และ
4.การติดตามและประเมินผลหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษาควรมีการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องชัดเจน เพื่อทำให้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของหลักสูตรและนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรต่อไป
“การเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาบ่อยๆ จะส่งผลต่อการวางแผนการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนอย่างมาก เพราะในการปรับหลักสูตรใหม่แต่ละครั้งครูจะต้องใช้เวลาปรับตัวเป็นปีๆ จึงอยากฝากผู้เกี่ยวข้องคิดให้ดี ที่สำคัญการปรับหลักสูตรใหม่ควรจะต้องรอแผนการศึกษาแห่งชาติให้ชัดเจนก่อน เพื่อเกิดความสอดคล้องกันและควรนำหลักสูตรที่ปรับแล้วมาเริ่มใช้ภาคต้นของปีการศึกษา เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการจัดการเรียนการสอนทั้ง 2 ภาคเรียน” ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 มกราคม 2559