"การุณ"วิเคราะห์ข้อมูลตกซ้ำชั้น ย้ำถ้าไม่ไหวจริงต้องให้ซ้ำชั้น เชื่อถ้าฝืนปล่อยเลื่อนชั้นจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเด็ก
วันนี้ (18 ม.ค.) นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้านโยบายการตกซ้ำชั้น ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังวิเคราะห์การตกซ้ำชั้น โดยศึกษาข้อมูลว่าจะกระทบต่อจิตใจของเด็กอย่างไร ในขณะเดียวกันก็ต้องวิเคราะห์ด้วยว่า หากเด็กพื้นฐานไม่แน่นแล้วปล่อยไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อตัวเด็กหรือไม่ ทั้งนี้ สพฐ.ได้จัดทำแนวทางในการตกซ้ำชั้น เพื่อเสนอต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ โดยจะเป็นการตกซ้ำชั้นในปีสุดท้ายของช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 1 ระดับชั้น ป.3 ช่วงชั้นที่ 2 ระดับชั้น ป.6 และช่วงชั้นที่ 3 ระดับชั้น ม.3 อย่างไรก็ตามในระหว่างช่วงชั้นเด็กจะยังมีโอกาสแก้ตัวได้ อาทิ เมื่อเข้าเรียน ป.1 เด็กสอบตกก็ยังเปิดโอกาสให้แก้ตัวและเลื่อนชั้นได้ แต่เมื่อถึง ป.3 ยังตกอีกก็คงต้องตัดสินใจให้เด็กเรียนซ้ำชั้น เพราะถ้าฝืนปล่อยให้เด็กผ่านไปเรียนต่อ ป.4 เท่ากับเป็นการซ้ำเติมเด็ก
“เราให้ความสำคัญกับการซ้ำชั้นตอน ป.3 มาก เพราะเชื่อว่าหากมีการเคี่ยวเข็ญเด็กให้อ่านออกเขียนได้ในช่วงชั้นนี้ พอได้ขึ้นไปในช่วงชั้นที่สูงขึ้น เด็กน่าจะตกน้อยลง อย่างไรก็ตาม สพฐ.ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งจะเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน เนื่องจากยังมีเสียงทักท้วงอยู่ อย่างไรก็ตามหากมีการนำมาใช้คาดว่าน่าจะเริ่มได้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า นอกจากนี้ตนได้รับข้อมูลว่า ขณะนี้มีนักเรียนร้องเรียนครู หรือผู้บริหารโรงเรียน มีม็อบประท้วงหยุดเรียนเป็นจำนวนมาก และลุกลามถึงเด็กประถมศึกษา ซึ่งบางครั้งเด็กที่มาประท้วงไม่ได้รู้เรื่องด้วย แต่มาเพราะครูอีกฝ่ายให้มา จึงขอฝากให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา ช่วยดูแลความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน อย่าให้มีการใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการเดินขบวน เพราะจะทำให้เด็กไม่เข้าใจและเท่ากับเป็นการสร้างความไม่มีเหตุมีผลให้เด็ก
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 มกราคม 2559