หลากมิติเวทีทัศน์ : เรียกร้องกฎหมายลาคลอด 120 วัน เพื่อ 'แม่-ลูก' พันผูกชีวิตครอบครัว : โดย...จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
แน่นอนว่า ความลำบากกว่าจะได้มาซึ่ง “วันลาคลอด” นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก ทั้งที่เป็นสิทธิของผู้หญิงที่พึงได้รับ
ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานหญิงจากหลากหลายอาชีพ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เพื่อระดมความคิดเห็นและส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดกฎหมายลาคลอดเพิ่มขึ้น จากเดิมมีอยู่แล้ว 90 วัน ให้เพิ่มเป็น 120 วัน ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นมาตรฐานสากลที่หลายๆ ประเทศนำมาบังคับใช้ อีกทั้งกฎหมายเดิมของไทยเรานั้นล้าสมัย ไม่ทันต่อสถานการณ์เพราะใช้มายาวนานกว่า 22 ปีแล้ว
โดยก่อนหน้านี้ได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนในรูปแบบ กิจกรรมเสริมพลังใจให้แรงงานหญิงที่ร่วมขบวนการเคลื่อนไหวกฎหมายลาคลอด รวมถึงการแลกเปลี่ยนผ่านเวทีสัมมนา “บทเรียนการต่อสู้กฎหมายลาคลอด 90 วัน กับทิศทางการพัฒนาสวัสดิการแรงงานหญิง”
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมสะท้อนมุมมองการเคลื่อนไหวกฎหมายลาคลอด 90 วัน เป้าหมายเพื่อต้องการให้เห็นบทเรียนจากอดีต 20 ปี ที่กลุ่มแรงงานหญิง เครือข่ายวิชาชีพ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักสาธารณสุข ได้ร่วมกันต่อสู้จนประสบความสำเร็จสู่การออกกฎหมายลาคลอด 90 วัน ซึ่งต้องนำวิธีการมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ หรือเอาบทเรียนมาเรียนรู้ มาร่วมเคลื่อนไหว เพิ่มแนวร่วมต่อสู้ให้เกิดสิทธิสวัสดิการใหม่ๆ ครอบคลุมทุกกลุ่มสาขาอาชีพ รวมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติด้วย ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักและมีส่วนร่วม
อรุณี ศรีโต กล่าวในมุมมองของประธานแรงงานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ว่า ในฐานะที่เคยเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องนี้ จึงอยากเห็นการแก้ไขกฎหมายลาคลอดที่ใช้มานานกว่า 22 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 โดยการเพิ่มวันลาคลอดให้แรงงานหญิงได้ใช้สิทธิดูแลบุตรหลังคลอดเพิ่มเป็น 120 วัน หรือ 4 เดือน เพราะบทบาทแม่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก สภาพร่างกายยังไม่ฟื้นตัว ยังไม่แข็งแรง การให้นมบุตรยังทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นสิทธิการลาคลอดหรือเพิ่มวันลาคลอดจะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้ดีและเพิ่มความรักความผูกพันแม่สู่ลูก ซึ่งในต่างประเทศมีกฎหมายลาคลอด 6 เดือน บางประเทศ 1 ปี
นอกจากนี้ควรให้สิทธิผู้ชายลางาน เพื่อมาดูแลภรรยาและลูกได้ เนื่องจากสิทธินี้ให้เฉพาะราชการลาได้ 15 วัน ซึ่งควรครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้าใจกับหัวหน้างานเพราะหากไม่เข้าใจก็ไม่ได้รับการอนุมัติลางาน หรือขาดแทนการลา ส่งผลจนไม่กล้าลา
“ขณะนี้ข้าราชการหญิงที่ลาคลอด สามารถลาได้ถึง 90 วัน แต่ขณะเดียวกันสามีของข้าราชการหญิงที่ลาคลอดนั้น หากเป็นข้าราชการจะสามารถลาได้ 2 สัปดาห์ ในการไปดูแลภรรยา แต่ทางกลับกันส่วนของภาคเอกชนสามีที่จะขอลาไปดูแลภรรยาที่ลาคลอดนั้นทำไม่ได้ จึงอยากให้รัฐบาลมองมาที่กฎหมายลาคลอดบ้าง ว่าได้ใช้กฎหมายนี้มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากแล้ว มีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ต้องเปลี่ยนแปลงได้หรือยัง และจากการแลกเปลี่ยนในเวทีครั้งนี้ ต่างต้องการแก้ไข และถ้าทางรัฐบาลจะนำเรื่องนี้ไปจัดการก็ควรที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายลาคลอดให้อยู่ในระยะเวลา 120 วันด้วย เพื่อให้เป็นสากลเท่าเทียมต่างประเทศที่ทำกัน”
ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต กล่าวในมุมมองของอดีตแรงงานหญิงที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวกฎหมายลาคลอด ว่าเวทีนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นที่ที่สามารถจะบอกเล่าให้ทุกคนได้รับรู้ถึงเรื่องราวเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการเรียกร้องให้กฎหมายลาคลอด เปลี่ยนแปลงการลาคลอดของลูกจ้างหญิงให้อยู่ในระยะเวลาที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบัน ภาคเอกชนอย่างบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค เพิ่มระยะเวลาให้พนักงานหญิงเตรียมตัวคลอดและพักฟื้นหลังการคลอดได้ 180 วัน เริ่ม 1 มกราคม 2559 ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกมาได้ระยะเวลาลาคลอดมากกว่ากฎหมาย อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องรณรงค์ให้กฎหมายลาคลอดอนุญาตให้พนักงานหญิง ข้าราชการ และภาคเอกชน ลาคลอดได้ถึง 90 วัน อย่างเป็นกิจจะลักษณะเท่าเทียมกันก่อน เพื่อนำมาสู่การเพิ่มวันลาคลอดต่อไป ซึ่งกฎหมายนี้ควรครอบคลุมลูกจ้างหญิงทุกกลุ่มอาชีพ
สุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กล่าวว่า การถอดบทเรียนกฎหมายลาคลอดสู่ความสำเร็จมีปัจจัยหลายด้าน สมัยนั้นกลุ่มแรงงานได้ร่วมกันผลักดันกฎหมายประกันสังคม จนเป็นผลพวงความสำเร็จมาสู่กฎหมายลาคลอด เพราะทุกคนเห็นถึงพลังในการเคลื่อนไหว ช่วงนั้นมีการสื่อสาร จัดทำข้อมูลสร้างกระบวนการ สร้างการรับรู้และรณรงค์อย่างต่อเนื่อง จนทุกภาคส่วนรับรู้ขานรับและอยากมีส่วนร่วมผลักดัน ทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญนำมาสู่การออกกฎหมายลาคลอด 90 วัน ซึ่งประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จนี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิง หากเป็นไปได้ควรมีการแก้กฎหมายเพิ่มวันลาคลอดเป็น 120 วัน รวมถึงให้ผู้ชายลาเพื่อไปดูแลภรรยาและลูกด้วย นอกจากนี้ควรมีนโยบายจากภาครัฐจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กที่ปลอดภัยในย่านอุตสาหกรรม ชุมชน
สุจิตตรา ฝาสันเทียะ ตัวแทนแม่ที่อยู่ระหว่างใช้สิทธิลาคลอดและตัวแทนเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า เป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่เพิ่งคลอดลูกคนที่สอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการใช้สิทธิลาคลอด ได้มีโอกาสอยู่บ้านเลี้ยงดูลูกให้นมลูก แม้จะเป็นเวลาเพียงสั้นๆ 3 เดือน แต่ก็เป็นช่วงที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับคนเป็นแม่ ยังนึกภาพไม่ออกว่า ถ้าวันนี้สังคมไทยไม่มีกฎหมายลาคลอด 90 วัน คนเป็นแม่และลูกๆ ในประเทศนี้จะตกอยู่ในสภาพอย่างไร
“คนจำนวนมากเข้าใจว่ากฎหมายหรือเรื่องดีๆ ในประเทศนี้ มาจากนโยบายของนักการเมือง ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียว กรณีกฎหมายลาคลอดนี้ชัดเจนมาก เมื่อได้ศึกษาดูจึงรู้ว่ากว่าจะได้กฎหมายมา ต้องใช้คำว่า “เลือดตาแทบกระเด็น” ต้องใช้พลังแห่งความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ในการต่อสู้กับผู้ที่เห็นต่าง การข่มขู่คุกคามจากนายจ้างที่เห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง และโน้มน้าวให้ฝ่ายการเมืองเห็นชอบ” น.ส.สุจิตตรา ระบุ
เรียกได้ว่า 22 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า กฎหมายฉบับนี้ มีคุณูปการมากมายต่อผู้หญิง ต่อเพศแม่ ต่อลูกๆ และครอบครัวไทย ดังนั้น ผู้ใช้สิทธิลาคลอดทั่วประเทศคงต้องฝากความหวังไว้กับผู้มีอำนาจว่ากฎหมายดีๆ แบบนี้จะขยับสู่การลาคลอดได้ 120 วันได้อย่างไร
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษารายละเอียดความเป็นมา บทเรียนการต่อสู้กฎหมายลาคลอด 90 วันซึ่งรวบรวมการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์สู่การเปลี่ยนแปลง โดยสามารถติดต่อขอรับหนังสือ ได้ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล หรือโทร.0-2513-2889
-----------------------
(หลากมิติเวทีทัศน์ : เรียกร้องกฎหมายลาคลอด 120 วัน เพื่อ 'แม่-ลูก' พันผูกชีวิตครอบครัว : โดย...จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล)
ที่มา คมชัดลึก วันที่ 17 มกราคม 2559