สถานี ก.ค.ศ.
การนับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ทวีคูณ
สวัสดีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะกำหนดให้มีการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า สอบบรรจุครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ “ เป็นการสอบคัดเลือกพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ครูสอนศาสนาอิสลาม หรือวิทยากรอิสลามศึกษาตามประกาศแนวการดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในสถานศึกษาตามที่ส่วนราชการกำหนด พนักงานจ้างเหมาบริการ ครูอัตราจ้างหรือลูกจ้างชั่วคราวจากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของสถานศึกษา ซึ่งทุกตำแหน่งต้องได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอน ตามคำสั่งหรือสัญญาจ้าง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย โดยมีภาระงานการสอนตามที่ส่วนราชการกำหนด” นอกจากนี้ยังต้องมีวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ด้วย
ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับการสอบถามจากพนักงานราชการ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ จ.สงขลา เฉพาะอำเภอเทพา สะบ้าย้อย จะนะ และนาทวี) ว่า จะสามารถนับระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ประจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นทวีคูณ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว1 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2551 เพื่อให้สามารถนับระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาไม่น้อยกว่า 3 ปี มาใช้ในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกในครั้งนี้ได้หรือไม่
ในเรื่องนี้เมื่อพิจารณาตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว1 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2551 เรื่อง การบริหารงานบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้ว สาระสำคัญของหนังสือนี้ ให้ใช้เฉพาะการนับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ประจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของข้าราชการเป็นทวีคูณ เพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นเท่านั้น ประกอบกับหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ครูสอนศาสนาอิสลาม หรือวิทยากรอิสลามศึกษา พนักงานจ้างเหมาบริการ ครูอัตราจ้างหรือลูกจ้างชั่วคราวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูช่วย ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย) ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว17 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ก็มิได้มีข้อใดที่ระบุว่าให้พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ครูสอนศาสนาอิสลาม หรือวิทยากรอิสลามศึกษา พนักงานจ้างเหมาบริการ ครูอัตราจ้างหรือลูกจ้างชั่วคราว สามารถนับระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นทวีคูณได้
ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังกล่าว จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ครบ 3 ปี เช่นเดียวกับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่น ๆ จึงจะมีคุณสมบัติในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้
หวังว่าความรู้ที่นำมาฝากในวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ ที่ 18 มกราคม 2559