พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการศึกษายุคปฏิรูป : บทบาทหน้าที่ครู” ในโอกาสงานวันครู ประจำปี 2559 จัดโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2559 ณ ห้องพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ชั้น 3 อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล ประธานเปิดงานวันครู 2559 พร้อมทั้งคณาจารย์ นิสิต ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย
ศธ.เน้นจัดการศึกษาที่ทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครองมีความสุข
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการเน้นการจัดการศึกษาที่ทำให้เด็ก ครู และผู้ปกครองมีความสุข โดยได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการดำเนินงาน คือ ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจกับเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกันแต่ให้แข่งขันกับตัวเอง รวมทั้งครูจัดให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นปรัชญาที่ยั่งยืน พสกนิกรทุกคนสามารถนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติได้
ต้องการเห็นครูที่มีคุณลักษณะของครูที่ดี
"ครู" เป็นผู้ที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในทุกภาคส่วนของการศึกษา ดังนิยามของคำว่าครูที่ว่า ครูคือผู้ที่ให้ความรู้ไม่จำกัดทุกที่ทุกเมื่อ ครูต้องเต็มไปด้วยความรู้และรู้จักขวนขวายหาความรู้ใหม่ สะสมความดี มีบารมีมาก และครูที่ดีจะต้องไม่ปิดบังความรู้ ควรมีจิตวิญญาณของความเป็นครู
กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องการเห็นครูที่มีคุณลักษณะของครูที่ดี กล่าวคือ ครูต้องอยู่กับเด็กและรักเด็ก เป็นตัวอย่างที่ดีในทุกด้าน อีกทั้งเป็นครูที่มีความรู้และเทคนิคการสอน และต้องทันบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ครูต้องได้รับการดูแลในสวัสดิการทุกด้าน และได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาความก้าวหน้าในอาชีพด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีปัญหาของครูที่สะท้อนมาจากสังคม ได้แก่ ครูบางส่วนรู้ไม่ลึกในวิชาที่สอน, ครูบางส่วนขาดเทคนิคการสอน, คนเก่งไม่นิยมมาเป็นครู ครูไม่เตรียมการสอน นอกเหนือจากเสียงสะท้อนจากสังคมแล้ว ยังมีเสียงสะท้อนจากสภานักเรียน ประจำปี 2559 เกี่ยวกับปัญหาของครูในปัจจุบัน คือ ครูสอนตามมาตรฐานและตัวชี้วัดแต่การสอบในระดับชาติออกข้อสอบเกินหลักสูตร, ครูมีภาระมาก ไม่มีเวลาให้นักเรียนและมีเวลาสอนไม่เต็มที่, ครูไม่พอ, ครูมุ่งสอนเพื่อสอบ NT และ O-NET โดยเสนอให้ครูควรเยี่ยมบ้านนักเรียน เพื่อสร้างระบบการดูแลนักเรียนที่เข้มแข็ง เนื่องจากเด็กเชื่อว่าครูจะมีส่วนช่วยในการลดความขัดแย้งในครอบครัวได้ สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมาก ครูต้องเลือกเยี่ยมบ้านนักเรียนจากการสังเกตพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงของนักเรียนแต่ละคน
แนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ ของ ศธ.ที่เกี่ยวข้องกับครู
ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับครู อาทิ
- การคืนครูให้ห้องเรียน กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการคืนครูให้ห้องเรียน 2 โครงการ ดังนี้
1) โครงการคืนครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน โดยการจ้างครูเกษียณที่สอนเก่งสอนดีในวิชาหลักๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ให้มาสอนวิชานั้นๆ ในพื้นที่ที่ขาดแคลน เพื่อถ่ายทอดเทคนิคการสอนให้กับครูรุ่นใหม่ โดยคาดว่าจะเริ่มจ้างได้ในปีการศึกษา 2559 จำนวน 1,097 คน และในปี 2560 อีก 10,000 คน
2) โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (คุรุทายาท) เพื่อเตรียมผลิตครูให้ตรงกับสาขาและพื้นที่ที่มีความขาดแคลน โดยจะรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่มีผลการเรียน 3.00 ขึ้นไป เพื่อเรียนหลักสูตรครูเป็นเวลา 5 ปี พร้อมได้รับสิทธิ์ในการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูทดแทนอัตราเกษียณตามภูมิลำเนา และสามารถกู้ยืมเงินได้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 100% โดยวางเป้าหมายไว้ 4,000 คนต่อปีการศึกษา พร้อมทั้งให้ทุนสนับสนุนการเรียนต่อในระดับปริญญาโทในสถานศึกษาภายในประเทศ 100 ทุน และสถานศึกษาในต่างประเทศอีก 100 ทุน ส่วนนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีและมีความต้องการที่จะเป็นครู ก็สามารถสมัครเข้าโครงการนี้ได้เช่นกัน โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
- การลดภาระครู ซึ่งสามารถดำเนินการได้ด้วยการปรับลดภาระการประเมิน การตอบแบบสำรวจ และการรายงานข้อมูล, การหลอมรวมโปรแกรมการรายงานข้อมูล และปรับการประเมินวิทยฐานะให้สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รวมทั้งปรับลดภาระครูในการเข้าอบรม โดยมีแนวทางกำหนดช่วงเวลาการอบรมให้จัดขึ้นเฉพาะช่วงปิดเทอม หรือการอบรมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต รวมทั้งอบรมหลายๆ หัวข้อพร้อมกันในการสัมมนาหนึ่งครั้ง เพื่อไม่ให้การอบรมไปรบกวนเวลาสอนของครูในชั้นเรียน
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการขอความร่วมมือครูในการลดกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการสอนด้วย เช่น การประกวดต่างๆ, การแข่งขันทางวิชาการ, การประชุมสัมมนา และการอบรม ถึงแม้ว่าการได้รับรางวัลจะสามารถนำใช้ประกอบการขอเลื่อนวิทยฐานะของครูได้ แต่เป็นการแย่งเวลาของครูไปจากนักเรียน ซึ่งการได้รับรางวัลนั้นไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ต้องร่วมมือกันทำให้ถูกต้องเหมาะสมและพอเหมาะพอควร
- การสร้างขวัญกำลังใจให้ครู กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะซ่อมแซมบ้านพักครู 40,000 หลัง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ครูทั่วประเทศ
- การโยกย้ายครูและการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจะปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้อำนวยการสถานศึกษามีหลักธรรมาภิบาล เพราะผู้บริหารสถานศึกษาที่ดีจะทำให้ครูในสถานศึกษานั้นดีไปด้วย
แนวทางแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาตามนโยบายประชารัฐ
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาร่วมกับภาคเอกชนตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งมีคณะทำงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งหมด 12 ชุด โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับภาคเอกชน 2 ชุด คือ ชุดที่ 4 คณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) และชุดที่ 11 คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมและมีความโปร่งใส (Transparency) ในการดำเนินการ
พร้อมจะปรับปรุงระบบบริหาร เน้นการสื่อสาร และทำงานเชิงบูรณาการ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารงานภายในไปพร้อมกัน คือ การแก้ปัญหาการสื่อสารแนวดิ่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปสู่ครูโดยตรง ซึ่งยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร พร้อมทั้งแก้ปัญหาการสื่อสารระหว่างหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และจะผลักดันให้เกิดการบูรณาการภายในหน่วยงาน บูรณาการระหว่างหน่วยงาน และบูรณาการข้ามกระทรวงมากขึ้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นทุกด้านภายในเดือนกรกฎาคม 2560 โดยมีโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการและเห็นผลสัมฤทธิ์แล้ว 16 โครงการ, เริ่มดำเนินการแล้ว 35 โครงการ และอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดขึ้นอีก 12 โครงการ รวมทั้งสิ้น 63 โครงการ
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการได้ร่วมพิธีเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ "ห้องพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา" ของคณะครุศาสตร์ พร้อมทั้งมอบโล่รางวัลแก่ผู้บริหารสถานศึกษาที่ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษาจำนวน 23 คน รวมทั้งมอบเกียรติบัตรแก่ครูรัชนก เงินงามมีสุข ครูจาก อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งได้ช่วยเหลือนักเรียนหญิงที่มีอาการป่วยด้วยการแบกนักเรียนลงจากภูเขามาส่งโรงพยาบาล
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 15 มกราคม 2559