เมื่อวันที่ 14 มกราคม นายเสนอ อัศวมันตา นายกสมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร ฝ่ายมัธยม เปิดเผยกรณีมีผู้ปกครองออกมาเรียกร้องให้โรงเรียนสอนพิเศษหลังเลิกเรียน หลังจากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ห้ามไม่ให้มีการสอนพิเศษ สอบกวดวิชา สอนทำการบ้านในทุกระดับชั้น ทุก รูปแบบ ที่โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการเอง หรือยินยอมให้องค์กรอื่น ตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยผู้ปกครองมีข้อเสนอให้ สพฐ.ทบทวนนโยบายว่า ผู้ปกครองต้องปรับตัว เพราะนโยบายนี้เหมือนดาบสองคม มีข้อดีตรงที่นักเรียนทุกคนจะได้เรียนเนื้อหาทางวิชาการที่เท่าเทียมกัน แก้ปัญหาครูสอนนักเรียนที่เรียนพิเศษเยอะกว่าการสอนในเวลาเรียน หรือปัญหาด้านจริยธรรมได้ แต่ขณะเดียวกันผู้ปกครองที่ไม่สามารถมารับบุตรหลานของตนในเวลาเลิกเรียน ก็จะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ นโยบายลดเวลาเรียนฯ เป็นนโยบายที่ไม่สร้างสรรค์ โดยอาจเป็นแนวคิดที่ดี แต่ภาคปฏิบัติยังคลุมเครือ บางโรงเรียนยังสับสนกับนโยบายนี้ มองว่าออกนโยบายให้แต่ละโรงเรียนทำแผนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการพัฒนาเด็กน่าจะดีกว่า
นายเรืองศักดิ์ เจริญผล เครือข่ายผู้ปกครอง ฝั่งธนบุรี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในหลายโรงเรียน เห็นด้วยที่จะให้สอนพิเศษหลังเลิกเรียน เพราะเด็กจะได้อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย และมีครูช่วยสอนการบ้านให้ แต่ก็กังวลว่าครูจะเฉลยข้อสอบล่วงหน้าให้เด็กที่เรียนพิเศษ หรือสอนในเวลาเรียนไม่เต็มที่ จึงอยากให้ ศธ.ช่วยแก้ไขปัญหานี้ ส่วนนโยบายลดเวลาเรียนฯ ที่ได้ดำเนินการ ไปเมื่อภาค 2/2558 ส่วนใหญ่ได้ผลลัพธ์ที่ดี เด็กผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมที่อยากทำ แม้บางโรงเรียนมีปัญหาจัดกิจกรรมที่เน้นไปด้านใดด้านหนึ่ง ขาดแคลนบุคลากร หรือผู้ปกครองบางส่วนยังไม่เห็นด้วย แต่ภาพรวมถือว่าดี ทั้งนี้ อยากฝาก ศธ.ช่วยเสริมกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับวิชาการด้วย
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 16 ม.ค. 2559 (กรอบบ่าย)