เดินหน้าโครงการ คปก. 20 ปี ทุ่มงบ 3 หมื่นล้านบาท ดัน R&D ประเทศ
20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดแคลนนักวิจัยระดับปริญญาเอก รวมทั้งมีผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศน้อยมาก ส่งผลให้ประเทศมีความอ่อนแอด้านการวิจัยและการพัฒนา (Research & Development : R&D) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในปี 2539 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้รับมอบหมายให้จัดทำ "โครงการสนับสนุนการผลิตงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอกให้ทันความต้องการของประเทศใน 25 ปีข้างหน้า : Vi-sion 2020" โดยเริ่มดำเนินการในปีฉลองกาญจนาภิเษกของการครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ โดยมีชื่อว่า "โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)"
คปก.เป็นโครงการของรัฐที่ให้ทุนวิจัยระดับปริญญาเอก เพื่อผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอก และผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงในมหาวิทยาลัยไทยให้ได้มาตรฐานสากล โดยปี 2539 ก่อนเริ่มให้ทุน คปก. ประเทศไทยมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเพียง 2 คนต่อประชากร 10,000 คน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรด้านการวิจัย และพัฒนาประมาณ 10.5 คนต่อประชากร 10,000 คน
"ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์" ผู้อำนวยการ คปก. กล่าวว่า คปก.เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่มีเป้าหมายต่อการพัฒนาประเทศ โดยให้ความสำคัญกับโจทย์วิจัยที่ช่วยแก้ปัญหา หรือมีความเชื่อมโยงกับปัญหาของประเทศในทุกด้าน ทั้งองค์ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่สำคัญในการต่อยอดสู่การใช้เชิงพาณิชย์ของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนั้น ผลงานวิจัยต้องสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมได้โดยตรง
"เราต้องการให้ทุน คปก.ได้รับการยอมรับในมาตรฐาน และเป็นที่ต้องการของนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในเวทีโลกผ่านการศึกษา และการวิจัย อันนำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ทั้งยังเพื่อการพัฒนากำลังคนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงกำหนดวิสัยทัศน์ในระยะ 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2560-2579"
อันเป็นแผนการดำเนินงานโครงการระยะที่ 2 ของ คปก. ที่แบ่งออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ
หนึ่ง คปก.โลกาภิวัตน์ มุ่งผลิตบุคลากรระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาใหม่ ๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือสาขาที่ยังขาดแคลน เพื่อวางรากฐานให้ประเทศมีความมั่นคงเชิงวิชาการ มีบุคลากรคุณภาพสูงในด้านที่ประเทศต้องการในจำนวนที่มากพอที่จะขับเคลื่อน และพร้อมต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ด้วยมาตรการเชิงรุก
สอง คปก.อาเซียน ใช้รูปแบบการให้ทุนของ คปก. ดำเนินการร่วมกับประเทศอาเซียนและประเทศนอกอาเซียนที่มี Host University ในการผลิตบุคลากรระดับปริญญาเอกในประเทศไทยให้แก่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยจะร่วมกับประเทศต้นทางในการคัดเลือกนักศึกษาที่มีคุณภาพสูง โดยอาจให้รับทุนบางส่วนจากประเทศนั้น ๆ หรืออาจเป็นรูปแบบมหาวิทยาลัยไทยเข้าศึกษาวิจัยในมหาวิทยาลัยไทย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาไทยรับทุน คปก. แล้วมีนักศึกษาอาเซียนเป็นผู้ช่วยวิจัย
สาม คปก.เพื่อหน่วยงานของรัฐ ผลิตและพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอก ให้กับหน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับคุณภาพกำลังคน และพัฒนางานวิจัยในหน่วยงาน โดยใช้โจทย์วิจัยที่ตอบสนองต่อภารกิจ/ยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน ด้วยกลไกที่มีมาตรฐานของ คปก.
"แผนการให้ทุนทั้งหมดสำหรับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกระยะที่ 2 ในครั้งนี้ จะมีจำนวนทุนทั้งหมด 12,390 ทุน ตลอดโครงการระยะเวลา 20 ปี จะใช้งบประมาณรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 34,380 ล้านบาท"
ที่นับว่าน่าสนใจทีเดียว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 14 มกราคม 2559