“ดาว์พงษ์” เคาะทดลองใช้เทอม 2 ปี 59
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าได้มอบโจทย์ต่อที่ประชุมว่าการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องนำหลักสูตรเดิมมาพิจารณาว่ามีปัญหา อะไรบ้าง อาทิ เด็กเรียนมากเกินไป เรียนแล้วไปแข่งขัน กับคนอื่นๆได้หรือไม่ มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษหรือไม่ ผลิตคนตรงต่อความต้องการของประเทศและสอดคล้องกับโลกที่พัฒนาหรือไม่ ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ต้องนำโจทย์นี้เป็นตัวตั้งแล้วแก้โจทย์นี้ให้ได้ นอกจากนี้ต้องมีการปรับการประเมินทั้งภายในและภายนอก รวมถึงมีการจัดทำแผนการสอนของครู และการพัฒนาครูควบคู่กันไปด้วย ซึ่งตนได้วางกรอบเวลาไว้ว่าการจัดทำหลักสูตรใหม่ต้องแล้วเสร็จและเริ่มทดลองใช้ได้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559
“ในหลักสูตรใหม่สิ่งที่เด็กเรียนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สิ่งที่ต้องรู้ จะให้เด็กเรียนภายในห้องเรียน และสิ่งที่ควรรู้เป็นเรื่องที่ให้เรียนนอกห้องเรียน ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานพยายามยัดเยียดให้เด็กเรียน ซึ่งตนให้นโยบายไปว่าจะต้องพิจารณาว่าวัยไหนควรเรียนอะไร แต่ผมขอว่าวิชาประวัติศาสตร์ต้องเป็นเรื่องที่เด็กต้องรู้ ต้องเรียน ต้องสอบ นอกจากนี้ การปรับหลักสูตรใหม่ต้องประสานกับอุดมศึกษาด้วย ไม่ใช่มาโวยภายหลังเมื่อเด็กจบ ม.6 และเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย อีกทั้งอุดมศึกษาต้องถอยด้วยไม่ใช่เด็ก ม.6 ต้องเรียนมาก รู้ทุกเรื่องแต่ไม่ได้ใช้” รมว.ศธ.กล่าว
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวอีกว่า เมื่อมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่มีแนวโน้มอาจปรับลดกลุ่มสาระการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ที่มีอยู่ 8 กลุ่ม เหลือเพียง 5 กลุ่มสาระ แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อสรุป ต้องมีการพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ส่วนการปรับโครงสร้างเวลาเรียนนั้น ขณะนี้ยังใช้กรอบโครงสร้างเวลาเรียนเดิมได้อยู่ แต่หากปรับหลักสูตรใหม่เสร็จสมบูรณ์ก็อาจจะปรับลดเวลาเรียนลงในบางช่วงชั้น หลังจากที่ตัดไขมันส่วนเกินไป เด็กประถมศึกษาปีที่ 1-3 อาจจะเลิกเรียนครึ่งวัน จากนั้นมาเพิ่มกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ให้มากขึ้น ทั้งนี้ตนได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 คณะ ได้แก่คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ มีตนเป็นประธาน รวมทั้งให้ความเห็นชอบหลักสูตรและข้อเสนอแนะ คณะกรรมการกำหนดกรอบเนื้อหาหลักสูตรแกนกลางฯ มีปลัด ศธ.เป็นประธาน และคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรแกนกลางฯ มีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธาน.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 14 มกราคม 2559