ครูไทยจวกยับติดวงจรปิดจับตาสอนเด็กไม่ให้เกียรติวิชาชีพครู ใช้งบประมาณจัดซื้อสูง เผยระบบประเมินที่เน้นโอเน็ต ส่งผลให้โรงเรียนทุ่มเงินจ้างบริษัทติวเตอร์ติวเด็กในเวลาเรียน ชี้การให้ครูสอบโอเน็ตเป็นนโยบายที่สร้างความไม่พอใจให้ครู แนะควรจัดระบบนิเทศติดตาม ไม่ใช่คิดนโยบายเพื่อความสะใจ
วันนี้ (13 ม.ค.) นายอาคม สมพามา ครูสอนดีจังหวัดราชบุรี ของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีข้อเสนอเรื่องการพัฒนาครู โดยอยากให้ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อดูวิธีการสอนของครู รวมถึงมีนโยบายให้ครูสอบก่อนสอน เช่น สอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เป็นความล้มเหลวทางการศึกษา ซึ่งการติดตั้งกล้องวงจรปิดทุกห้องเรียน และทุกโรงเรียนทั่วประเทศเป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูงมาก ควรนำเงินที่จะซื้อกล้องวงจรปิดมาซื้อสื่อการเรียนการสอน หรือคอมพิวเตอร์ และพัฒนาให้ไฟฟ้าประปาถึงโรงเรียนจะมีประโยชน์มากกว่า ส่วนการให้ครูสอบโอเน็ตนั้น อยากบอกว่าครูที่สอบบรรจุได้ไม่ใช่คนโง่ คนที่สอบได้ต้องพัฒนาตนเองมาระดับหนึ่งแล้ว ถ้าจะดูว่าครูสอนอะไรบ้างก็ควรจัดระบบนิเทศติดตามประเมินผลการสอนของครู และส่งครูไปอบรมในวันหยุดเพื่อพัฒนา
“ระบบการประเมินครูและผู้บริหารที่เน้นคะแนนสอบโอเน็ต ทำให้โรงเรียนจำนวนมากจ้างบริษัทติวเตอร์มาติวนักเรียนชั้นม.3 และม.6 ในช่วงก่อนสอบโอเน็ตประมาณ 2-3 สัปดาห์ในช่วงเวลาเรียน โดยจะจัดติวทั้งวัน ค่าใช้จ่ายในการจ้างติววิชาละ 30,000 บาท แต่นักเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะโรงเรียนจะใช้งบฯพัฒนาวิชาการประมาณ 3-4 แสนบาทมาจ้างบริษัทติวเตอร์ เพื่อให้คะแนนโอเน็ตของโรงเรียนสูงๆ ทั้งนี้การที่โรงเรียนจ้างบริษัทติวเตอร์มาติวเด็กถือว่าไม่ได้มีความผิด แต่ตนไม่เห็นด้วยกับวิธีการติวเช่นนี้ ควรต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ก่อนแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการติว และการใช้บริษัทติวเตอร์ทำให้รู้สึกว่าถูกลดคุณค่าความเป็นครู”นายอาคม กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การติดตั้งกล้องวงจรปิด แสดงให้เห็นถึงระบบอำนาจ ความไม่ไว้ใจครู เป็นการไม่ให้เกียรติวิชาชีพครู นอกจากนี้ยังต้องใช้งบฯที่สูงมากในการจัดซื้อรวมทั้งการดูแลรักษา ซึ่งตนไม่มั่นใจว่าจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากงบฯการติดกล้องวงจรปิดหรือไม่ นอกจากนี้ตนขอคัดค้านการให้ครูสอบโอเน็ต เพราะเป็นนโยบายที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ครูทุกคน รวมทั้งครูของครูที่สอนในคณะครุศาสตร์ด้วย ผู้คิดนโยบายอาจทำไปเพื่อความสะใจ เอามันส์ หรือสร้างกระแส แสดงว่าเราไม่ไว้ใจครู และจะทำให้ครูกลายเป็นจำเลยของสังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากจริงใจกับครูจริง ในโอกาสวันครู ก็ไม่ควรมีนโยบายติดตั้งกล้องวงจรปิดและให้ครูสอบโอเน็ต” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 13 มกราคม 2559