สสค. เปิดผลสำรวจตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี พบครูได้เวลาคืนสู่ห้องเรียนเพิ่ม 19 วัน เชื่อหากปรับระบบประเมินวิทยฐานะ และการประเมินของ สมศ. แล้วเสร็จ จะทำให้ครูได้เวลาในห้องเรียนเพิ่มขึ้นถึง 50% ขณะที่ “สมพงษ์” ค้านขยายเวลาใช้เกณฑ์ประเมินวิทยฐานะเดิมออกไปอีก 2 ปี
วันนี้ (13 ม.ค.) ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ได้มีการแถลงข่าวเปิดผลสำรวจตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี โดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่า จากการสำรวจกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค.2558-5 ม.ค.2559 โดยการสัมภาษณ์ครูที่ได้รับรางวัลครูสอนดีจาก สสค. ทั่วประเทศ 319 คน ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างเดิมจากการเก็บข้อมูลในปี 2557 เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการเปรียบเทียบสถานการณ์ โดยพบว่า ในปี 2558 มีวันเปิดเรียน 200 วัน ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การสอนถึง 65 วัน คิดเป็น 32.5% ซึ่งลดลงจากปี 2557 ที่ครูต้องใช้เวลาถึง 84 วัน เท่ากับว่าครูได้รับการคืนเวลาสู่ห้องเรียนมากขึ้นถึง 19 วัน คิดเป็น 25% ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก
“ปัจจัยที่สามารถคืนเวลาให้ครูได้มากขึ้นนั้น เกิดจากการดำเนินนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการปรับลดจำนวนวิชาแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การลดกิจกรรมประกวดแข่งขันและอบรมครูลง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่กำลังดำเนินการ เช่น การปรับระบบการประเมินวิทยฐานะของครูและผู้บริหาร ที่ไม่ผูกกับการแข่งขัน และการได้รางวัล รวมถึงการปรับระบบประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งคาดว่าเมื่อเรื่องเหล่านี้ได้ข้อสรุป และนำมาใช้แล้ว ในปี 2559จะสามารถคืนเวลาการสอนให้ครูได้เพิ่มขึ้นถึง 50% หรือประมาณ 40 วัน ” ดร.อมรวิชช์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามตนอยากให้มีกลไกเข้าไปรองรับกับการที่ครูมีเวลาในชั้นเรียนเพิ่มขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้เวลาเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ โดยเฉพาะการเตรียมการสอน และการพัฒนาขีดความสามารถของครู
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ มีมติอนุโลมให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ว 13/2556 และหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ว 17/2552 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้รางวัลของครูเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินไปพลางก่อนในช่วง 2 ปี โดยตนมองว่าเกณฑ์การประเมินต้องดูผลงานเชิงประจักษ์ที่เกิดผลต่อตัวผู้เรียนเป็นหลัก และควรปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในรัฐบาลยุคนี้ ไม่ควรขยายเวลาการใช้เกณฑ์เดิมออกไป เพราะเรื่องวิทยฐานะเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์กับเงินเดือนครูมาก แต่ไม่เกิดประโยชน์กับเด็กเท่าที่ควร เมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารก็จะยึดผลประโยชน์ของครูเป็นหลัก และก็จะกลับไปใช้เกณฑ์เดิมอีก ดังนั้นควรต้องเริ่มเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เลย.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 มกราคม 2559