รัฐเสริมทีมโฆษกฯ เพิ่มอีก 2 คน ช่วยแจงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มตรวจสอบ ขรก.เกียร์ว่าง เม.ย.นี้ ชี้ทำดีต้องได้ดี ทำไม่ได้ ต้องได้รับผลตามนั้น มีผลบัญชีโยกย้าย ต.ค.59
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์ว่าหลายนโยบายของรัฐบาลที่จะออกเป็นโครงการต่างๆ ในอนาคตนั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลายเรื่องต้องสร้างความเข้าใจพื้นฐาน สร้างการรับรู้ล่วงหน้าแก่ประชาชนก่อน ไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดในเรื่องนโยบายเพื่อทำงานในเชิงรุกด้านการสื่อสาร จึงต้องเพิ่มคณะทำงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอีก 2 คน คือ พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ทั้ง 2 คนอาจจะเป็นผู้ช่วยโฆษก ส่วนคำสั่งแต่งตั้งทั้ง 2 คน จะออกมาอย่างไรนั้น ค่อยพิจารณากันอีกครั้ง โดยทีมโฆษกใหม่ทั้ง 2 คน จะตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องโครงการต่างๆ ที่จะออกมาในอนาคต และโครงการที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้แล้วว่าก้าวหน้าแล้วเพียงใด โดยจะเริ่มให้ข้อมูลต่างๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.นี้ อาทิ การขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนภาคประชาชนอย่างไร ส่งเสริมเงินลงทุนอย่างไร ส่วนเรื่องการตอบโต้ทางการเมืองขอให้เป็นหน้าที่ของตน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุม ครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังได้รายงานผลการดำเนินงานวิธีกระตุ้นเกียร์ว่างของข้าราชการตามที่นายกรัฐมตรีได้สั่งการไป ซึ่งการประเมินผลการทำงานของข้าราชการในรูปแบบใหม่จะต้องดำเนินการให้ได้เร็วที่สุด โดยจะเริ่มตรวจสอบข้าราชการตั้งแต่เดือน เม.ย.59 และจะเห็นผลในช่วงโยกย้ายแต่งตั้ง 1 ต.ค. 59 โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วนร่วมดำเนินการ อาทิ สำนักงาน กพ. ที่ดูตัวบุคคลในส่วนราชการ ขณะที่สำนักงาน ก.พ.ร.ดูแลเรื่องระบบ ด้านสำนักงบประมาณ ดูแลเรื่องงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ส่วนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะดูแลเรื่องแผน ซึ่งการประเมินผลการทำงานแบบใหม่นั้น ไม่ได้ใช้เฉพาะข้าราชการเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงผู้นำขององค์กรรัฐวิสาหกิจระดับต้น ๆ รวมถึงองค์การมหาชน และอาจรวมถึงผู้บริหารท้องถิ่น ทูตไทย ในระดับซี 10-11 ด้วย ส่วนระดับต่ำกว่าซี 10-11 ให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีประเมินตามหลักเกณฑ์ที่ส่วนกลางกำหนด
"การประเมินผล เพื่อเร่งรัดให้ข้าราชการทุกระดับ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ซี 10-11 ให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีความตื่นตัวในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ใครทำดีก็ได้ดี ใครทำไม่ได้ก็จะได้รับผลตามที่ถูกประเมิน นอกจากนี้วิธีดังกล่าวยังมีผลต่อการขอขยายหน่วยงาน ขอเพิ่มอัตราการทำงาน รวมถึงการยุบรวมหน่วยงานนั้น ๆ ส่วนตัวชี้วัดการประเมินจะใช้ดัชนีชี้วัดจากต่างประเทศ เช่น ไอเคโอ ธนาคารโลก องค์กรประเมินผลความโปร่งใสของประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้จะดูความตั้งใจในการทำงาน ความพยายามในการแก้ปัญหาว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งคงจะมีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องดังกล่าวออกมาต่อไป" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 มกราคม 2559