บทความโดย ทีมการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
สางปัญหา "หนี้สินครู" สลาย "กับดัก" ฉุดรั้งจิตวิญญาณเบ้าหลอมเยาวชนไทย
“กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”
บทกลอนของ “หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล” ที่สะท้อนให้เห็นภาพการศึกษาและสภาพชีวิตของครู ที่เปรียบได้ดั่งดอกกล้วยไม้ ซึ่งนอกจากจะเป็นพืชที่อยู่ในที่สูง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศแล้ว ยังไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเสมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทย ต้องอดทนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ
จากวันนี้อีกเพียง 4 วันก็จะถึง “วันครู” 16 มกราคม 2559 “ทีมการศึกษา” ขอเจาะเวลาย้อนอดีตกลับสู่ช่วงปี 2558 ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ เพื่อสะท้อนภาพ “แม่พิมพ์” บางส่วนที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ หลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงต่อการทำหน้าที่ ว่า ครูได้เสียสละ ทุ่มเทจิตวิญญาณ เพื่อปลูกฝังความรู้และความดีให้กับลูกศิษย์อย่างเต็มความสามารถดั่งเช่นดอกกล้วยไม้แล้วหรือไม่ หรือเป็นเพียงดอกกล้วยไม้ที่เหี่ยวเฉารอวันร่วงโรย
ทั้งยังสะท้อนภาพหนึ่งในปัญหาสำคัญของครู ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน นั่นคือ ครูจำนวนไม่น้อยมัวพะวักพะวงอยู่กับปัญหาหนี้สินที่ล้นพ้นตัว แก้อย่างไรก็เหมือนวัวพันหลักไม่หลุดพ้นนั่นเอง
จากข้อมูลของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล พบว่ามีครูกว่า 1,700 คน เดือดเนื้อร้อนใจหนัก ต้องมาร้องทุกข์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือกลุ่มครูทั่วประเทศที่เป็นหนี้วิกฤติ อันเป็นผลกระทบที่เกิดจากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และกองทุนพัฒนาชีวิตครู ซึ่งที่ผ่านมาได้ผุดโครงการเงินกู้ต่างๆ ให้กับครูกู้มากมายเกินตัว ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องสั่งการ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ หาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
“...ครูต้องรับผิดชอบตัวเอง การล้างหนี้ให้ คงเป็นไปไม่ได้ รวมถึงให้ไปดูว่า เหตุใดครูจึงไม่ใช้หนี้เพื่อหาแนวทางแก้ไขในภาพรวมทั้งระบบ...” ประกาศิตจาก นายกรัฐมนตรี ย้ำชัดเจนในการแก้ปัญหาครูเป็นอย่างแรก
ขณะที่การรวบรวมข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ. มีหนี้สินจากการกู้เงินประมาณ 470,000 คน เป็นหนี้กับธนาคารออมสิน ประมาณ 470,000 ล้านบาท และเป็นหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศอีกกว่า 700,000 ล้านบาท ทั้งยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบอื่นๆอีก จึงคาดว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ.ทั่วประเทศน่าจะมีหนี้สินรวมกันไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านล้านบาท
เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดก็พบว่า โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เริ่มมีปัญหาหนี้สินค้างชำระตั้งแต่โครงการที่ 2-7 โดยพบว่า สถาบันการเงินที่ดำเนินโครงการดังกล่าวขาดการติดตามและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อีกทั้งยังเกิดภาวการณ์เลียนแบบไม่ชำระเงินกู้ เนื่องจากสถาบันการเงินจะหักชำระหนี้เงินกู้ค้างชำระจากเงินสนับสนุนสำนักงาน สกสค. และไม่มีการติดตามฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่งผลให้มีผู้ค้างชำระมากถึง 66,281 ราย และมีแนวโน้มสูงจะเป็น NPL จำนวนมาก
และเพื่อขานรับนโยบายเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหานี้ ศธ.จึงเร่งหารือกับกระทรวงการคลัง และธนาคารออมสิน เปิดให้ครูที่เป็นหนี้ค้างชำระลงทะเบียนเพื่อเข้ามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งจำแนกมาตรการแก้ไขเป็น 4 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ขั้นวิกฤติ ใช้มาตรการ ก. ชะลอฟ้องร้องและบังคับคดี และ ข.ให้ชำระเงินต้นปลอดดอกเบี้ยไม่เกิน 3 ปี
กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ใกล้วิกฤติ ใช้มาตรการพักชำระดอกเบี้ยไม่เกินครึ่งหนึ่ง เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี และให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ
กลุ่มที่ 3 ลูกหนี้ค้างชำระไม่เกิน 12 งวด ใช้มาตรการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการของธนาคาร
กลุ่มที่ 4 ลูกหนี้ปกติ ใช้มาตรการพักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระดอกเบี้ย
หลังเปิดให้ครูลงทะเบียนเพื่อขอรับการช่วยเหลือปรากฏว่ามีผู้มาลงทะเบียน 51,370 ราย แต่ยังมีกลุ่มลูกหนี้ค้างชำระที่ไม่มาลงทะเบียนอีก 13,000 ราย ส่งผลให้ธนาคารออมสินต้องดำเนินมาตรการทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม มาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูดังกล่าว ศธ.เห็นว่ายังไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เบ็ดเสร็จ จึงเสนอโครงการลดภาระหนี้ครูโดยการนำเงินในอนาคตเป็นเงินค้ำประกันการให้สินเชื่อ อาทิ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ช.พ.ค. และเงินบำเหน็จตกทอดของกระทรวงการคลัง แต่ก็ยังไม่ตกผลึก ต้องหารือในรายละเอียดอีกหลายตลบ
แต่หากเจาะลึกถึงปัญหาหนี้ครูที่เข้าสู่ขั้นวิกฤติ รวมถึงมาตรการและแนวทางต่างๆ ที่กำหนดขึ้น หลายคนยังมองว่าจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
“หากครูจะกู้เงิน ไม่ว่าจะในโครงการใดๆ ก็ตาม ผู้บริหารของครูคนนั้นๆ นอกจากจะต้องพิจารณารอบคอบว่าครูซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามีความสามารถในการชำระหนี้ได้หรือไม่แล้ว ต่อไปผู้บังคับบัญชาที่เซ็นรับรองให้ครูคนนั้นๆ จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกรณีที่เกิดปัญหาตามมาในภายหลังด้วย เพราะหากปล่อยให้เซ็นรับรองกันง่ายๆ ปัญหาก็คงแก้ไม่ตก ที่สำคัญต้องสร้างวินัยในการใช้จ่ายให้ครูด้วย” รมว.ศธ. กล่าว
ทีมการศึกษา เห็นด้วยที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ ต้องการให้สะสางปัญหาหนี้ครูตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางไปพร้อมๆกัน เพราะหากแก้แต่ปลายเหตุด้วยการรีไฟแนนซ์ หรือจัดหาแหล่งเงินใหม่ๆให้ครูกู้ แต่ต้นเหตุของปัญหายังปล่อยให้ครูกู้เงินกันง่ายๆเช่นนี้ต่อไป สุดท้ายก็จะก่อหนี้ใหม่ไม่หยุดหย่อน ทั้งยังเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยเฉพาะความชัดเจนที่ให้ครูต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้ที่ตัวเองก่อ
ขณะเดียวกัน เรายังแอบหวังลึกๆแทนแม่พิมพ์ทั้งหลายว่า แนวทางและมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้ครูที่รัฐบาลชุดนี้จะเข็นออกมาใช้จะเป็นทางออกที่ดี และเป็นของขวัญวันครูปีนี้ให้กับบรรดาแม่พิมพ์ของชาติที่มีรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ให้ก้าวพ้นกับดักฉุดรั้งจิตวิญญาณของความเป็นครู
อย่างน้อยให้ครูได้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นที่เคารพของลูกศิษย์ ผู้ปกครอง และสังคมอย่างเต็มภาคภูมิ และสำคัญที่สุดคือ ครูเองต้องพึงสังวรที่จะยกเครื่องการทำงาน และการปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์
ขอให้วันครูปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของครู เพื่อเป็นเบ้าหลอมที่สมบูรณ์แบบให้กับอนาคตของชาติ
ดั่งเช่น “ดอกกล้วยไม้” ที่ชูช่อผลิดอกออกใบอันงดงามตลอดไป.
ทีมการศึกษา
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 12 มกราคม 2559