เรื่องการศึกษาถือว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสนใจมาก เพราะถือเป็นฐานของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนประเทศในอนาคต และในยุค พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ก็ถือว่าต้องรับบทหนักไม่น้อย เพราะเหลือเวลาอีกไม่มากที่รัฐบาล คสช.จะบริหารประเทศ ดังนั้นการผลักดันเรื่องการปฏิรูปการศึกษาจึงต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อให้แล้วเสร็จก่อนจะเลือกตั้งในปี 2560 และเพื่อจะส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินงานต่อได้ทันที
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแผนจากการระดมความคิดกูรูด้านการศึกษาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาแล้ว แต่การขับเคลื่อนเพื่อให้เห็นรูปธรรมของการปฏิรูป เชื่อว่ายังต้องมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องดำเนินการรุกคืบไปข้างหน้า และในฐานะผู้นำ พล.อ.ดาว์พงษ์ก็ต้องพยายามที่จะเร่งรัดบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิรูป
ในโอกาสนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ.ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ โดยกล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาจะต้อง โดยปรับปรุงจาก พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. 2542 และในบางเรื่องที่มีความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็จะใช้มาตรา 44 เข้ามาช่วย
ทั้งนี้ ส่วนหลักของการศึกษาก็คือ ครูและเด็ก เห็นว่าครูเป็นส่วนสำคัญของการศึกษา และต้องให้ความสำคัญกับการผลิตครู ไม่ว่าเป็นเรื่องความรู้ความสามารถ เรื่องเทคนิคการสอนในแต่ละวิชา ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงชั้นด้วย ซึ่งตนก็ได้ให้นโยบายไปกับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏแล้วว่าต้องสร้างจุดแข็งในด้านการผลิตครู ทั้งนี้ทางกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏก็รับทราบในนโยบาย แต่อย่างไรก็ดีการทำเรื่องต่างๆ ในมหาวิทยาลัยไม่ใช่ว่าตนสั่งแล้วอธิการบดีรับไปทำได้เลย หากว่าแต่ละเรื่องที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการจำเป็นต้องผ่านมติของสภามหาวิทยาลัยและ พ.ร.บ.ของตนเองเสียก่อน และในหลายมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตรการสอนเรื่องเทคนิคอยู่บ้าง และเราก็ต้องยอมรับว่าเรื่องเทคนิคการสอนนั้นเป็นเรื่องที่เกิดจากความเข้าใจและถ่ายทอดการสอนของครูแต่ละคน เป็นความสามารถเฉพาะตัว ซึ่งยากแก่การสอนหรือถ่ายทอดให้ผู้อื่น
ในปัญหาเรื่องสร้างครูรุ่นใหม่ พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ตนได้รับนโยบายสมัย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.ศธ. เรื่องโครงการครูผู้ทรงคุณค่าต่อแผ่นดิน ที่จ้างครูเกษียณอายุและมีความสามารถกลับมาสอนในสาขาที่ขาดครู และโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (โครงการคุรุทายาท) ที่จะผลิตครูที่มีคุณภาพได้ตรงตามพื้นที่ มาดำเนินการต่อ นอกจากนี้ยังมีโครงการซ่อมบ้านพักครูทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ครูอีกด้วย
ผลงานเด่นของ พล.อ.ดาว์พงษ์ขณะนี้ก็คือ นโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" แต่ขณะเดียวกันเรื่องของ "หลักสูตร" เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ รมว.ศธ.บอกว่าจะต้องพัฒนาปรับปรุงด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ตนเองได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วถึง 3 ชุดด้วยกัน โดยได้มอบนโยบายให้คณะทำงานไปศึกษาว่าเด็กประถมจำเป็นต้องเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระหรือไม่ หรืออาจจะเรียนเพียง 5 กลุ่มสาระ และเพิ่มกลุ่มสาระตามระดับชั้นเรียน ซึ่งการปรับในลักษณะนี้จะสอดรับกับโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพราะไม่ได้เป็นการปรับการเรียนหรือเนื้อหาในวิชาหลักลง แต่ปรับลดในส่วนที่โรงเรียนเรียนเสริมมาเท่านั้น โดยคิดว่าหลักสูตรใหม่จะสามารถนำไปใช้ทดลองในเทอมที่ 2 ของปีการศึกษา 2559
ในส่วนของอาชีวศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ และช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้สิ่งที่ต้องทำคือ การผลิตคนให้เร็วและตรงกับความต้องการมากที่สุด ทาง ศธ.จึงร่วมมือกับภาคเอกชน ตั้งคณะกรรมการยกระดับวิชาชีพ และคณะกรรมการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ ซึ่งจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเรื่องการผลิตกำลังคนให้ตรงสายงาน และเร็วขึ้นแน่นอน เพราะการปรับหลักสูตรในแต่ละครั้งเราต้องมองยาวไปว่าเมื่อเด็กจบหลักสูตรจะสามารถศึกษาต่อได้หรือไม่ เรียนต่อในสาขาอะไร สาขาเหล่านั้นจะสามารถต่อสู้กับต่างประเทศได้หรือไม่ ทำให้ต้องมีการบูรณาการเรื่องหลักสูตรของทุกองค์กรหลักเข้าด้วยกัน
สำหรับการปฏิรูประบบบริหารจัดการภายใน ศธ. พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องไม่เป็นการสร้างปัญหาใหม่ แต่อย่างที่รู้กันว่า การปรับโครงสร้างใหม่จะต้องเกิดปัญหาแน่นอน อย่างนั้นตนไม่ทำได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะโครงสร้างของ ศธ.เป็นปัญหาหลักในการบริหารในปัจจุบัน
"เมื่อผมรู้แล้วว่าการปรับโครงสร้างจะต้องเกิดปัญหา ก็ต้องลงไปดูว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่คิดว่าจะเกิดขึ้น เมื่อปรับแล้วผมก็ต้องไปแก้ปัญหาตรงนั้นไว้ล่วงหน้าด้วย ทำให้การปรับโครงสร้างจะต้องดูกันอย่างละเอียด และต้องยอมรับว่ากระทรวงศึกษาฯ มีปัญหาสะสมอยู่พอสมควร และการปรับในทุกๆ เรื่องผมขอยืนยันว่าไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดเอง แต่แนวคิดแนวทางการปฏิรูปมาจากคนในกระทรวงที่ประสบปัญหาและต้องการการแก้ไข แต่ก็จะทำให้ทันทีไม่ได้เช่นกัน ต้องมีการฟังเสียงจากนักวิชาการและความต้องการของสังคมด้วย แต่อยากสร้างความเข้าใจว่า การปรับโครงสร้างนั้นไม่ได้แปลว่าทุกที่จะมีปัญหาทั้งหมด บางที่ก็มีดีอยู่แล้วแต่อาจจะดีไม่พอในสถานการณ์นี้ กับการแข่งขันในทุกวันนี้ จึงต้องมีการปรับให้ดีขึ้นไปอีก ทำให้ต้องมาดูที่ระบบและบุคลากรว่าตรงไหนที่ทำให้ติดขัดในเรื่องอะไร และทลายให้สามารถทะลุและเดินไปอย่างราบรื่นได้"
พล.อ.ดาว์พงษ์ยอมรับว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างก็จะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ทำให้ต้องบริหารให้พอดี ไม่ใช่อยากจะปรับก็ปรับ แต่ต้องบริหารคนด้วย ดังนั้นถ้าจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างคงต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจน ทำความเข้าใจกับทั้งคนในกระทรวงและสังคมภายนอก เราจึงไม่สามารถประกาศได้ว่าจะปรับวันไหน เมื่อไร หรือจะยุบหรือไม่ยุบหน่วยงานใด จะต้องมีเหตุผลรับรองในทุกเรื่อง ถ้าจะยุบก็ต้องไปดูว่าทำไมหน่วยงานนั้นถึงเกิดมา เกิดมาเพื่ออะไร และถ้าหากจะยุบจริงๆ ก็ต้องมีเหตุผลมาหักล้างให้ได้
"และผมจะไม่ปรับการบริหารเฉพาะใน ศธ.เท่านั้น ตอนนี้ผมกำลังหาเส้นขอบเขตการกระจายอำนาจที่เหมาะสม เพราะนโยบายของเรามุ่งสู่การกระจายอำนาจอยู่แล้ว กระทรวงเรามีปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคล ที่จากส่วนกลางนำไปสู่ภูมิภาคยังไม่มีประสิทธิภาพพอ แต่ในส่วนของการ กระจายอำนาจก็ต้องมีการศึกษาว่าจะทำอย่างไร จะต้องทำแค่ไหน หรือจะต้องกระจายให้เฉพาะใคร สำหรับตัวผมเองเห็นด้วยจริงๆ ถ้าเมื่อไรที่มีการ กระจายอำนาจ ศธ.จะเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ที่เหลือจะให้โรงเรียนแข็งขันกันเอง พัฒนากันเอง แต่ในทางปฏิบัติจริงจะสามารถเดินไปถึงตรงนั้นจริงหรือไม่ และเดินไปได้ขนาดไหนเราต้องมาศึกษากัน" รมว.ศธ.กล่าว
อย่างที่รู้กัน จากข่าวในกระแสต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่า ศธ.เองก็ยังมีปัญหาภายใน ก็คือเรื่องการทุจริต เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีคนเยอะและได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนมาก พล.อ.ดาว์พงษ์ได้ให้แนวทางในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้รัฐบาลก็ช่วยเหลือในเรื่องนี้มาก เพราะมีปัญหาลักษณะนี้ในทุกกระทรวง แต่ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาทุจริตไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับตัวเขานั้นจะเริ่มจากการแก้กฎกติกา อะไรที่มันเหมือนจะเป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริตก็ปิดซะ เพราะถ้ายังมีการเปิดช่องว่างไว้ วันหนึ่งก็ต้องมีการทุจริตเกิดขึ้น ถ้าปิดไว้จะทำให้การเกิดทุจริตได้ยากขึ้น และทุกวันนี้ไม่ว่าหน่วยงานไหนจะทำอะไรต้องแจงให้รู้เกี่ยวกับการใช้งบประมาณอย่างละเอียดด้วยว่าเอาไปทำอะไรบ้าง ใช้ที่ไหน เท่าไร เข้ากับแผนยุทธศาสตร์ที่มอบหมายหรือไม่ จะทำให้เราเห็นได้ว่ามีการทุจริตตรงไหน ต้องไหนใช้เงินเยอะเกินจำเป็นก็จะไม่มีการอนุมัติ เพราะตั้งใจว่างบประมาณจำนวน 5.1 หมื่นล้านของ ศธ.จะต้องไม่บูด ทำให้ทุกวันนี้หน่วยงานต่างๆ จะเสนองบประมาณเพื่อดำเนินโครงการจะต้องเสนอให้ รมว.ศธ.พิจารณาล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน
"ในทุกๆ เรื่องผมต้องทำให้เสร็จทันก่อนเลือกตั้งแน่นอน ไม่งั้นผมจะเข้ามาทำอะไร และในปี 2559 นี้ก็จะมีผลงานต่างๆ ที่กระทรวงกำลังเร่งทำให้แล้วเสร็จด้วย เพราะเรื่องที่จะต้องปฏิรูปนั้นมีเยอะและมีเวลาที่กำจัด แม้จะเหนื่อยเพราะต้องเร่งทำ แต่ก็ต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งถ้า ศธ.ตอนนี้เท่ากับศูนย์ คงไม่ยากที่จะบริหาร แต่ ศธ.มีการดำเนินการมาอยู่แล้ว อยู่ๆ ผมจะสั่งให้ได้อย่างใจนั้นคงยาก ต้องหาเหตุผลมาหักล้างไม่ว่าจะทำเรื่องอะไรก็ตาม แต่ถือว่าเป็นโชคดีของผม ที่ในหลายๆ เรื่องที่ผมจะทำตรงกับความคิดเห็นของคนในกระทรวง ทำให้การทำงานสามารถขับเคลื่อนไปได้".
"ได้มอบนโยบายให้คณะทำงานไปศึกษาว่าเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำเป็นต้องเรียนถึง 8 กลุ่มสาระหรือไม่ หรืออาจจะเรียนเพียง 5 กลุ่มสาระ และเพิ่มกลุ่มสาระตามระดับชั้นเรียน ซึ่งการปรับในลักษณะนี้จะสอดรับกับโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพราะไม่ได้เป็นการปรับการเรียนหรือเนื้อหาในวิชาหลักลง แต่ปรับลดในส่วนที่โรงเรียนเรียนเสริมมาเท่านั้น โดยผมคิดว่าหลักสูตรใหม่จะสามารถนำไปใช้ทดลองในเทอมที่ 2 ของปีการศึกษา 2559"
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์