พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหารฝ่ายการเมือง ผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เข้าร่วมประชุม เมื่อวันพุธที่ 6 มกราคม 2559 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)
1) งบประมาณกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณตามมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการตามนโยบายของรัฐบาล จากระบบ GFMIS ที่กรมบัญชีกลางใช้ติดตามงบประมาณ ณ วันที่ 4 มกราคม 2559 ในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ 6,246 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายได้ 4,900.24 ล้านบาท (ร้อยละ 78.45) และคงเหลือยังไม่เบิกจ่าย 1,345.76 ล้านบาท (ร้อยละ 21.55) โดยในส่วนนี้เป็นรายการที่ก่อหนี้ผูกพันแล้วแต่ยังไม่เบิกจ่าย 2,031 รายการ จำนวน 742.02 ล้านบาท เป็นรายการที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ 256 รายการ จำนวน 150.49 ล้านบาท และคงเหลือจากการทำสัญญา จำนวน 453.25 ล้านบาท ซึ่งมีหน่วยงานที่เบิกจ่ายได้สูงสุด คือ สพฐ. สอศ. และ สป.ตามลำดับ ในส่วนของมหาวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัยในสังกัดและในกำกับรวม 9 แห่ง ที่สามารถเบิกจ่ายได้ร้อยละ 100
2) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับงบประมาณรวมจำนวน 517,076 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 1 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2559) มีผลการใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงจำนวน 158 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 30.75 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการเบิกจ่ายตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
1) โครงการการประชาสัมพันธ์สร้างค่านิยมอาชีวศึกษา “อวด-ดี อาชีวะ” ที่ประชุมรับทราบการรายงานผลการประกวดการทำหนังสั้นของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะ ภายใต้โครงการการประชาสัมพันธ์สร้างค่านิยมอาชีวศึกษา “อวด-ดี อาชีวะ” ซึ่ง สอศ.จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการศึกษาด้านวิชาชีพและสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับมาตรฐานอาชีวศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการเรียนสายวิชาชีพที่มุ่งเน้นการมีงานทำทันทีหลังเรียนจบ และให้ได้เข้าถึงการบริการของอาชีวะ อันจะส่งผลให้สนับสนุนบุตรหลานมาเรียนสายอาชีวศึกษามากขึ้น
หลังจากนี้ สอศ.จะจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำหนังสั้นแก่ทีมนักเรียนนักศึกษา (4-5 คน) ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในปี 2558 มีนักเรียนนักศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 73 ทีมจากทั่วประเทศ เพื่อเข้ารับการอบรมและจัดทำหนังสั้นถ่ายทอดเรื่องราวของคนอาชีวศึกษาเพื่อส่งเข้าประกวด ภายใต้แนวคิด คนช่างสร้างชาติ-สุดยอดนวัตกรรมอาชีวะ-สุดยอดฝีมือ-อาชีวะเปลี่ยนชีวิต โดยมีหนังสั้นผ่านการคัดเลือกและได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 13 ทีม เงินรางวัลกว่า 3 ล้านบาท โดยผลงานที่ได้รับรางวัลสุดยอดผลงานอวด-ดี อาชีวะ และรับเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ผลงานชื่อ “สุดยอดช่างน็อต ” จากวิทยาลัยเทคนิคท่าหลวงซิเมนต์ไทยอนุสรณ์ จังหวัดสระบุรี
2) โครงการอาชีวะอาสา ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการอาชีวะอาสา ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ตอบสนองนโยบายรัฐบาล “สุขกาย สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย รับปีใหม่ 2559” ซึ่ง สอศ.ได้ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ในการตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศรวม 250 จุด ในระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2559 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 00.30 น. โดยในส่วนของ สอศ.ได้รับสมัครนักเรียนนักศึกษาอาชีวะเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้บริการตรวจสภาพรถทุกชนิด แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวที่พัก บริการเครื่องดื่มและนวดผ่อนคลาย
สรุปผลการดำเนินโครงการ มีประชาชนให้ความสนใจและนำรถเข้ามารับบริการตลอด 7 วัน รวมทั้งสิ้น 40,943 คัน แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ 21,447 คัน รถปิคอัพ 9,550 คัน รถเก๋ง 8,827 คัน รถตู้/รถแวน 882 คัน และรถอื่นๆ 237 คัน ทั้งนี้ สอศ.ได้จัดทำแบบสอบถามประชาชนที่เข้ามาใช้บริการอาชีวะอาสา พบว่ามีประชาชนนำรถมาตรวจสภาพเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 10,000 คัน โดยมีจำนวนรถจักรยานยนต์เพิ่มสูงที่สุด ในส่วนของนักเรียนนักศึกษามีความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเกินกว่าเป้าหมาย ทั้งนักศึกษาภาคปกติและนักศึกษาระบบทวิภาคี นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนมาเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง รวมเป็น 12 แห่งด้วย
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
แนวทางการพัฒนาครูเขียนหน่วยและแผนการจัดการเรียนรู้ ที่ประชุมรับทราบแนวทางการพัฒนาครูเขียนหน่วยและแผนการจัดการเรียนรู้ ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เพื่อพัฒนาครูให้สามารถเขียนหน่วย/แผนการจัดการเรียนรู้ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของครูผู้สอนที่ต้องออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และแผนการจัดการเรียนรู้ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพการสอน อาทิ ตัวผู้สอน เป้าหมายการสอน รูปแบบการสอน วิธีสอน การเสริมแรง การให้ข้อมูลย้อนกลับ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ที่จะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริงมีครูเพียงส่วนน้อยที่เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะครูบางส่วนใช้แผนของเอกชนและบางส่วนก็สอนตามประสบการณ์ ดังนั้น สพฐ. จึงตระหนักในความสำคัญของการเขียนหน่วยและแผนการเรียนรู้ เพื่อให้การสอนของครูมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน จึงเสนอแนวทางการพัฒนาครูใน 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 “ทำให้ใช้” การจัดทำหน่วยและแผนการจัดการเรียนรู้ ชั้น ป.1-ม.3 เผยแพร่ทาง DLTV เพื่อให้ครูนำไปใช้และเกิดการเรียนรู้จากการใช้จริง
ขั้นตอนที่ 2 “พาทำ” โดยดำเนินการในหลายส่วน คือ 1) เปิดรับสมัครครูผู้สอนเพื่อเข้ารับการพัฒนาตามความสมัครใจ 2) การพัฒนาแบบออนไลน์ 3) จัดทำคลิปวีดิโอนำเสนอตัวอย่างการออกแบบแผนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การสอนแบบบูรณาการ การสอนแบบคละชั้น (BBL) การสอนแบบ Project-based Learning การสอนแบบ Problem-based Learning 4) มี Teaching Resource ที่จำเป็นต้องใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ 5 โมดูล ได้แก่ ห้องเรียน DLTV คลังสื่อการสอน การพัฒนาวิชาชีพครู คลังข้อสอบ และห้องสมุดดิจิทัล พร้อมทั้งเสริมเทคนิคการตั้งคำถาม เทคนิคการสอน ตัวอย่างชิ้นงาน/ภาระงาน 5) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อพัฒนาศึกษานิเทศก์หรือครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอาสาที่จะทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะและเติมเต็มในการพัฒนาครู
ในการนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการทบทวน/ปรับปรุงแนวทางการพัฒนาให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน ผลิตและพัฒนาเนื้อหาหรือตัวอย่างที่ดี ทันสมัย และมีการทดสอบความเที่ยงตรงก่อนนำไปใช้จริง ตลอดจนนำแผนการเรียนรู้ของเอกชนที่ดีๆ มาเป็นตัวอย่างในการพัฒนา
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 6 มกราคม 2559