ด้วยผู้เขียนกำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ณ สถานีบริการโรงเรียนบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีความสนใจศึกษาเรื่อง การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหารโรงเรียน
ในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงในด้านต่าง ๆ และเป็นที่ยอมรับกันว่าข้อมูลสารสนเทศเป็นทรัพยากรที่จำเป็นอย่างยิ่ง ผู้ใดได้ข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง รวดเร็วกว่าจะเป็นผู้ได้เปรียบ เพราะสามารถใช้สารสนเทศเหล่านั้นในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ดังนั้นข้อมูลสารสนเทศที่ดี จึงมีความสำคัญมากที่จะทำให้ผู้บริหารวางแผนงานและตัดสินใจได้ถูกต้อง แม่นยำ ทันกาลมากขึ้น โดยเฉพาะการวางแผนการศึกษาและการกำหนดนโยบายต้องมีระบบข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพ มีความละเอียด ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงตามความต้องการและทันสมัย ผู้บริหารจะปฏิบัติหน้าที่การงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะอาศัยความสามารถของผู้บริหาร ในส่วนบุคคลแล้วยังต้องอาศัยสารสนเทศมาสนับสนุนการปฏิบัติงานซึ่งยังผลให้การบริหารองค์การมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ (ผ่องศรี วาณิชย์ศุภวงศ์. 2537: 255)
ระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ
เกรียงศักดิ์ พราวศรี และคนอื่น ๆ (2544 : 6 - 7) ยังได้กล่าวถึงการจัดข้อมูลหรือการมีระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพของสถานศึกษาว่าขึ้นอยู่กับลักษณะความต้องการและการเลือกสรรใช้ข้อมูลที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและควรจะครอบคลุมองค์ประกอบพื้นฐานของการจัดการศึกษา ดังนี้
1. โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของสถานศึกษาและชุมชน อาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ในสถานศึกษา เช่น ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการวัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอน ห้องสมุด ตลอดถึงแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษา เป็นต้น
2. ผู้เรียนหรือนักเรียน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสถานศึกษาการเก็บรวบรวมข้อมูลนอกจากตัวผู้เรียนแล้วยังต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับด้านภูมิหลังทางครอบครัวและชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่
3. ครู – อาจารย์ การเก็บข้อมูลครูอาจารย์ในสถานศึกษา ได้แก่ จำนวนครู คุณวุฒิการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่ วิชาที่สอน ผลงานทางวิชาการ และผลการปฏิบัติงานของครู และรวมถึงบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถพิเศษในด้านต่าง ๆ สามารถเป็นวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิหรือครูภูมิปัญญาไทย เป็นต้น
4. หลักสูตร ได้แก่ ตัวหลักสูตร แผนการสอน คู่มือ การพัฒนาหลักสูตรการสำรวจความต้องการของชุมชน และการใช้ตำราเรียนของครูและนักเรียน เป็นต้น
5. กระบวนการเรียนการสอน ได้แก่ ลักษณะของวิธีการสอน ตารางสอน การมีส่วนร่วมของนักเรียน การใช้ตำราเรียน สื่อการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน การรายงานผลการเรียน การสอนซ่อมเสริม เป็นต้น
การจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศ
จะต้องเก็บข้อมูลพื้นฐานและสารสนเทศที่ผ่านการจัดกระทำเรียบร้อยแล้ว โดยการเก็บไว้ในสื่อต่าง ๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นระบบการจัดกระทำด้วยมือ หรือใช้คอมพิวเตอร์ ถ้าเป็นระบบการจัดกระทำด้วยมือ การจัดเก็บจะเป็นระบบแฟ้ม ซึ่งเก็บข้อมูลและสารสนเทศไว้ในสื่อที่เป็นเอกสารหรือเป็นบัตร ถ้าเป็นระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บให้เป็นระบบ ซึ่งสรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศไว้ ดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ (2537 : 16 – 24) การจัดหน่วยหรือคลังข้อมูลไว้ในหน่วยงาน ขั้นนี้เป็นการจัดให้มีแหล่งรวมของข้อมูลสารสนเทศไว้ในหน่วยงานซึ่งอาจเรียกว่า ศูนย์สารสนเทศทางการศึกษาระดับสถานศึกษา ซึ่งมีแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ต้องจัดให้มีสถานที่ เช่น มีห้อง ๆ หนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสถานศึกษาเป็นศูนย์สารสนเทศ หรืออาจใช้ส่วนหนึ่งของห้องสมุด ห้องอื่น ๆ ฯลฯ หรือหากมีคอมพิวเตอร์อาจใช้ห้องคอมพิวเตอร์
2. จัดให้มีครูภัณฑ์ วัสดุ จำเป็น เช่น ตู้สำหรับจัดเก็บแฟ้มข้อมูลสารสนเทศ เก็บแผ่นบันทึกข้อมูล (แผ่นดิสก์เกต) กรณีใช้คอมพิวเตอร์ ไว้ในห้องในข้อ 1.
3. จัดระบบค้นหา (Fileing) หากเป็นแฟ้ม หรือหากเป็นคอมพิวเตอร์ก็ควรจัดทำเป็นโปรแกรมให้สอดคล้องกับลักษณะงานของสถานศึกษา เพื่อประสิทธิภาพของการใช้และการบริหารข้อมูลของหน่วยงาน และที่สำคัญคือต้องสร้างให้สอดคล้องกับโปรแกรมในระดับจังหวัด และอำเภอ เพื่อวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาแล้วในขั้นการจัดกระทำข้อมูล
ระบบสารสนเทศถือเป็นหัวใจของกระบวนการบริหารงานนับจากการวางแผน การตัดสินใจ การจัดองค์กร การควบคุม งบประมาณ ช่วยประหยัดเวลาในการตัดสินใจให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เป็นไปได้รวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเครื่องมือชี้แนะทิศทางการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ระบบสารสนเทศที่ดีของสถานศึกษา ควรจะครอบคลุมองค์ประกอบพื้นฐานของการจัดการศึกษา และต้องมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ง่ายต่อการนำไปใช้อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามนโยบายการจัดการศึกษา
|