"สาสน์" "สาส์น" และ "สาร"
คำ สาสน์ (อ่านว่า สาด) สาส์น (อ่านว่า สาน) และ สาร (อ่านว่า สาน) ยังมีการนำไปใช้สับสนกัน ดังข้อความที่เห็นกันอยู่เสมอ ๆ เช่น สาสน์จาก (นายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการ ฯลฯ) สาส์นจาก… หรือ สารจาก… ทำให้เกิดความสงสัยว่า ควรจะใช้คำใดจึงจะถูกต้อง
ถ้าเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๔ จะไม่พบคำ “สาส์น” แต่จะพบคำ สาสน์ (หน้า ๘๑๘) และคำ สาร (หน้า ๘๑๕) ซึ่งนิยามไว้ดังนี้
สาสน์ (สาด) น.คำสั่ง คำสั่งสอน; โดยปริยายหมายถึงพระราชหัตถเลขาทางราชการ จดหมายทางราชการของประธานาธิบดี และลิขิตของพระสังฆราช เช่น พระราชสาสน์ อักษรสาสน์ สมณสาสน์.
สาร ๑ สาร-๑ สาระ (สาน สาระ-) น.แก่น เนื้อแท้ที่แข็ง เช่น แก่นสาร ส่วนสำคัญ ข้อใหญ่ใจความ เช่น ไม่เป็นสาระ; ถ้อยคำ เช่น กล่าวสาร หนังสือ เช่น นิตยสาร จดหมาย เช่น เขียนสาร.
การที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่เก็บคำ สาส์น เพราะเป็นคำที่อ่านและเขียนผิดอักขรวิธีไทยของคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต คำบาลีสันสกฤตนั้น พยัญชนะตัวที่ไม่มีรูปสระกำกับอยู่และไม่ใช่ตัวควบกล้ำหรือตัวสะกด จะอ่านเหมือนมีสระอะประสมอยู่เสมอโดยเฉพาะพยัญชนะตัวท้ายคำ เช่น สาสน (อ่านว่า สา-สะ-นะ) เมื่อไทยรับคำบาลีสันสกฤตมาใช้มักนิยมแปลงพยัญชนะตัวท้ายคำเป็นตัวสะกดบ้าง เช่น กาล (กา-ละ) อ่านเป็น กาน ขย (ขะ-ยะ) แผลงเป็น ขัย แปลงเป็นตัวสะกดและตัวการันต์บ้าง เช่น สนฺต เป็น สันต์ วิโรจน เป็น วิโรจน์ คำ สาส์นซึ่งเป็นคำมาจากบาลีว่า สาสน จึงต้องเขียนว่า สาสน์ (อ่านว่า สาด) จึงจะถูกต้องตามหลักอักขรวิธีไทยดังกล่าวข้างต้น และคำนี้มีแบบแผนการใช้มาแต่โบราณกับลิขิตของพระสังฆราช เช่น สมณสาสน์ พระราชหัตถเลขาทางราชการ เช่น พระราชสาสน์ เท่านั้น
ส่วนที่มีการใช้คำว่า สาส์น และอ่านว่า สาน คงเนื่องมาจากชื่อหนังสือ สาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมจดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ ฯลฯ ระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก คำ สาส์น นี้จึงติดหูติดตาและนำไปใช้ในความหมายของ “จดหมาย” กันแพร่หลาย ที่ถูกแล้ว คำ สาส์น จะต้องถือว่าเป็นคำวิสามานยนาม เป็นคำยกเว้นที่ใช้เป็นชื่อหนังสือเล่มนี้เท่านั้น
ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่ต้องการจะหมายถึง “ถ้อยคำ หนังสือหรือจดหมายจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ใช้คำว่า สาร เช่น สารจาก (นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ …) สารฉบับนี้มีข้อความว่า… ไม่ใช้ สาสน์ หรือ สาส์น เป็นอันขาดเพราะไม่ถูกต้อง.
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
สาร สาส์น ใช้อย่างไรกันแน่
เห็นว่า มีการใช้คำว่า สาร และ สาส์น คลาดเคลื่อนกันอยู่ เช่น มีข้อความสื่อสารของผู้บริหารไปยังพนักงานในองค์กร หรือการมีข่าวสารแจ้งไปยังผู้คนทั่วๆ ไป แต่ใช้คำว่า “สาส์น” เพราะเข้าใจว่า น่าจะต้องเป็นคำว่า “สาร” มากกว่า จึงต้องอาศัยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นข้อมูลอ้างอิง ว่าควรใช้คำใดกันแน่
คำว่า สาร เป็นคำนาม หมายถึง กล่าวสาร สื่อสาร หนังสือ จดหมาย เช่น เขียนสาร สาร ของนายกรัฐมนตรีถึงเยาวชน เป็นต้น (จาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2546. หน้า 1182)
ส่วน คำว่า สาส์น เป็นคำนาม หมายถึง คำสั่ง คำสั่งสอน เช่น สาสนธรรม จดหมายของประมุขของประเทศหรือประมุขสงฆ์ที่ใช้ในการเจริญสมพันธไมตรี ระหว่างประเทศ ถ้าเป็นจดหมายของ พระมหากษัตริย์ เรียกว่า พระราชสาส์น เขียนเป็น พระราชสาสน หรือพระราชสาส์น ก็ได้ ถ้า เป็นจดหมายของประธานาธิบดี เรียกว่า อักษรสาส์น หรือ อักษรสาสน หรือ อักษรสาสน์ ก็ได้ ถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราช เรียนกว่า สมณสาสน์ ถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระราช สังฆราชเจ้า เรียกว่า พระสมณสาสน์
เพราะฉะนั้น การสื่อสารจากผู้บริหาร ต้องเป็น สารจากผู้บริหาร ไม่ใช่ สาส์นจากผู้บริหาร หรือ การส่งข้อความจากเจ้าของเว็บไซต์ไปยังผู้เข้าชม ก็ต้องเป็นสาร เช่นเดียวกัน แยกแยะได้จากข้อมูลอ้างอิงข้างต้น
รายการรอ้างอิง:
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2546. หน้า 1186
ที่มา https://supapornhuang.wordpress.com/2010/10/13/communication/