การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมายังไม่เกิดผล เป็นการทดลองมากกว่าการปฏิรูป นักวิชาการแนะว่าปีนี้ต้องพัฒนาการศึกษาชาติ 30:70 โดยย้ำว่าต้องทำ 7 เรื่องนี้เพื่อวางรากฐานพัฒนาการศึกษาในอนาคต
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการติดตามการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่า ศธ.ไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลมากนัก เป็นการทำงานในลักษณะทดลองปฏิรูปการศึกษามากกว่า โดยเป็นการนำร่องนโยบายต่างๆ เช่น ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การจัดทำโรดแมพการศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปี 2559 ตนขอเสนอสัดส่วนการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาชาติ เป็น 30 ต่อ 70 โดย ร้อยละ 30 เป็นการสานต่อนโยบายการศึกษาปี 2558 และอีกร้อยละ 70 คือรัฐบาลต้องทำการวางรากฐานสำคัญของการศึกษาเพื่ออนาคต 7 เรื่อง ได้แก่
1. วางรากฐานระบบการศึกษาในระยะยาว โดยควรใส่เรื่องการปฏิรูปการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรทำให้ได้เพื่อให้ทุกรัฐบาลต้องทำตามแผนการศึกษาแห่งชาติที่วางไว้ ไม่เปลี่ยนแปลงตามใจนักการเมือง
2. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควรเร่งออกกฎหมายการศึกษา ได้แก่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับแก้ไข พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉบับแก้ไข แผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น
3.เร่งปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูประบบการประเมิน ปฏิรูปหลักสูตร ให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปที่วางไว้ รวมทั้งปรับปรุงระบบการคัดเลือกคนเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย
4.ปฏิรูประบบการผลิตครูให้เป็นระบบปิด โดยคัดคนดีคนเก่ง และผลิตตามจำนวนที่ต้องการ รองรับการมีงานทำ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยใดจะผลิตได้ตามใจชอบอีกต่อไป
5.ปรับปรุงระบบงบประมาณให้เม็ดเงินลงไปถึงสถานศึกษาและผู้เรียนอย่างแท้จริง
6.เร่งกระจายอำนาจในลักษณะเชิงพื้นที่และจังหวัด และให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล
7.ขับเคลื่อนนโยบายทวิภาคีให้ปรากฏเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมค่านิยมให้เด็กไทยเรียนสายอาชีพมากกว่ามุ่งเรียนเพื่อใบปริญญาบัตร
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 มกราคม 2559