พลิกโฉม'แผนการศึกษาแห่งชาติ'แผนงานชัด-อ่านง่าย-ใช้ได้จริง : เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ
ในปี 2559 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ด้วยแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552-2559 (ฉบับปรับปรุง) ที่ใช้อยู่เวลานี้ กำลังจะสิ้นสุดลง ดังนั้น สกศ.ต้องเร่งจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 15 ปี โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อให้ทันประกาศใช้ในปี พ.ศ.2560
“แผนการศึกษาแห่งชาติเปรียบเสมือน “ธรรมนูญการศึกษา” ที่ได้กำหนดกรอบและแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อใช้ในการเตรียมพร้อมเด็กและเยาวชนในอีก 15 ปีข้างหน้าให้พร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และทันต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สภาพสังคมโลก” ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สะท้อนความสำคัญของแผนการศึกษาแห่งชาติ พร้อมเปิดเผยว่า ขณะนี้การยกร่างแผนการศึกษาฯ ที่มี ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นประธาน คืบหน้าไปแล้ว 40% โดยได้กำหนดหลักการสำคัญ คือ เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มุ่งเน้นการประกันโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างงานได้ ประกอบด้วย 4 หมวดหลัก ได้แก่ หมวดที่ 1 หลักการและความมุ่งหมาย หมวดที่ 2 ระบบการศึกษา หมวดที่ 3 แนวนโยบายการศึกษาของรัฐ และหมวดที่ 4 แนวทางการจัดการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 หมวดผ่านการระดมความคิดเห็นทั้งสิ้น
ส่วนแผนการทำงานขั้นตอนต่อไปนั้น ดร.กมล แจงว่า ที่ผ่านมาพบว่าแผนการศึกษาที่ทำไปนั้นองค์กรหลักของ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยิบนำไปใช้จริงประมาณ 15% ทั้งที่ความจริงควรต้องนำไปใช้ไม่น้อยกว่า 80% เพราะฉะนั้น เพื่อให้แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีความสมบูรณ์ สกศ.จะเชิญทุกหน่วยงานมาร่วมลงรายละเอียดในแต่ละหมวดของร่างแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระยะ 15 ปี ที่แต่ละหน่วยงานกำลังจัดทำอยู่ เพื่อที่เมื่อถึงเวลานำไปปฏิบัติจะได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาได้ตรงตามเป้าหมายและมาตรฐานที่วางไว้
“ราวเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 เป็นช่วงสำคัญ จะเริ่มคิกออฟครั้งใหญ่ จัดประชุมวิชาการเชิญนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิของไทยและต่างประเทศ หรือตัวอย่างประเทศที่ทำข้อมูลแผนการศึกษาประสบความสำเร็จมาบอกเล่าประสบการณ์ และแบ่งกลุ่มให้องค์กรหลัก ศธ.และทุกหน่วยงานมาร่วมวงถกแถลงและปรับแผนร่วมกัน ซึ่งคาดว่าใช้เวลาไม่นาน จากนั้นจะนำแผนลงไปสู่ระดับพื้นที่ว่ามีสิ่งใดติดขัดหรือไม่ ประกอบกับเรารวมกลุ่มประชาคมอาเซียนแล้ว มีความเชื่อมโยงประเทศสมาชิก ยิ่งต้องคำนึงถึงความแตกต่าง ความต้องการทางด้านการศึกษาและด้านอาชีพ จึงอาจจะไม่สามารถใช้แผนแผนเดียวกับทุกพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเสนอ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป" เลขาธิการ สกศ.ระบุ
นอกจากนี้ สกศ.มีแนวคิดจะปรับโฉมรูปเล่มแผนการศึกษาแห่งชาติใหม่ โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ ได้มอบให้ไปศึกษาแผนการศึกษาแห่งชาติของประเทศมาเลเซีย มาเป็นต้นแบบในการจัดทำ ซึ่งพบว่าแผนการศึกษาของมาเลเซียเป็นระยะยาว 15 ปีเช่นเดียวกับของไทย แต่ที่ต่างกันคือ เขาจะกำหนดชัดไว้ในช่วง 5 แรก 5 ปีถัดมา และ 5 ปีสุดท้ายมีแผนการทำงานอะไรบ้าง วางเป้าหมาย ทิศทางการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมไปถึงยกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆ ประกอบ เพราะฉะนั้นรูปเล่มแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่จากเดิมที่จะเป็นเชิงวิชาการก็จะเปลี่ยนทำในลักษณะดังกล่าว โดยไม่ใช่แค่เพียงรูปแบบสวยงามน่าอ่าน ยังมุ่งให้ประชาชนอ่านง่าย เข้าใจ มองเห็นกระบวนการทำงานและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้น โดยมีตัวอย่างหรือกรณีศึกษาที่เห็นผลเป็นรูปธรรมประกอบ
“ที่สำคัญผมจะฟื้นการทำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติขึ้นอีกครั้ง เพราะพบว่าที่ผ่านมา สกศ.หยุดทำไป โดยขณะนี้ได้เสนอ พล.อ.ดาว์พงษ์แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ระยะเวลา 5 ปี มีเลขาธิการ สกศ.เป็นประธาน ซึ่งแผนนี้จะสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 15 ปี แต่จะกำหนดรายละเอียดของแผนงานโครงการหลักๆ การกำหนดเป้าหมาย งบประมาณ และกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เพื่อหน่วยงานต่างๆ นำไปดำเนินการตามแนวทางของรัฐบาล” ดร.กมล กล่าวในที่สุด
สาระสำคัญของทั้ง 4 หมวดหลักในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2574 ดังนี้ หมวดที่ 1 หลักการและความมุ่งหมายของการจัดการศึกษา เน้นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยการสร้างทักษะ ความรู้ความสามารถและสมรรถนะ ให้ครอบคลุมการศึกษาในทุกระดับ ให้โอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้พิการ ผู้ที่มีความสามารถพิเศษ และเน้นความเสมอภาคทางเพศ โดยเชื่อมโยงกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
หมวดที่ 2 ระบบการศึกษา เห็นว่าระบบการศึกษาไม่ควรยึดตามกรอบเวลา ควรเน้นตามศักยภาพของผู้เรียน หากสามารถเรียนจบได้เร็วก็สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น เพิ่มกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ อาทิ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีความสามารถพิเศษ รวมทั้งการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (e–education) และการเรียนรู้ด้วยตนเอง
หมวดที่ 3 แนวนโยบายการศึกษาของรัฐ ให้ความสำคัญกับการลดบทบาทหน่วยงานส่วนกลางจากการเป็นผู้จัดการศึกษามาเป็นผู้กำกับนโยบาย แผน คุณภาพและมาตรฐาน การติดตามประเมินผล กระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา ปรับระบบการจัดสรรเงินงบประมาณจากเดิมที่จัดสรรผ่านสถานศึกษามาเป็นการจัดสรรผ่านผู้เรียนให้มากขึ้น เน้นหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย เสียสละ การสร้างทัศนคติ ค่านิยมที่ถูกต้อง
หมวดที่ 4 แนวทางการจัดการศึกษา เน้นการให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน การจัดทำหลักสูตรสอดคล้องกับบริบทของชุมชนในท้องถิ่น กระบวนการผลิตและพัฒนาครู การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพครู จูงใจคนดี คนเก่ง มีความสามารถเข้าสู่วิชาชีพครู การจัดสรรทุนสนับสนุนผู้เรียนที่มีศักยภาพ ด้อยโอกาส ยากจน และขาดแคลนทุนทรัพย์
ที่มา : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
คมชัดลึก วันที่ 5 มกราคม 2559