ฮือฮามากที่สุดในวงการครู เห็นจะเป็นการที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้า คสช. ในอำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
ลาทีปี 2558 การศึกษาไทยภายใต้ท็อปบู๊ต ที่รัฐบาล คสช. หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งแม่ทัพเรือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย นั่งบัญชาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วง 7 เดือนแรก ก่อนเปลี่ยนตัวเป็น พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ มานั่งแทนในช่วง 5 เดือนหลังของปี ซึ่งถึงแม้จะมีการเปลี่ยนนโยบายตามตัวเสมา 1 บ้าง แต่นโยบายหลักของเสนาบดีทั้ง 2 ก็ยังคงวิ่งไล่ล่าตามแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำที่สั่งสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพครู คุณภาพผู้บริหาร คุณภาพสถานศึกษา ซึ่งไม่ว่าจะหยิบจับอะไร ก็มีปมให้แก้ไขไม่รู้จบ
ฮือฮามากที่สุดในวงการครู เห็นจะเป็นการที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้า คสช. ในอำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 สั่งให้คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯของ สกสค.พ้นจากตำแหน่ง และให้เลขาธิการ สกสค. เลขาธิการคุรุสภา และ ผอ.องค์การค้าฯของ สกสค. หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะเป็นที่รู้กันว่าทั้ง 3 องค์กรนี้ เป็นจุดที่มีปัญหาเรื่องทุจริตมานาน
แถมนายกรัฐมนตรียังแสดงออกว่าให้ความสำคัญกับการศึกษามาก โดยมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งภาพในขณะนั้นสิ่งที่ครูคิดว่าจะได้เห็นในช่วงรัฐบาลทหาร คือ การล้างบาง สะสางปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ปรับที่มาของคณะกรรมการในบอร์ดชุดต่าง ๆ ตลอดจนหยุดขบวนการสูบเลือดครู รวมถึงกรณีปัญหาการเรียกรับเงินในการย้ายครูแบบคิดกันเป็นกิโลเมตร แต่แล้วจนถึงสิ้นปีครูก็ยังคงไม่สมหวัง เพราะทุกอย่างดูจะนิ่ง ๆ
ยุทธศาสตร์ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศจะดำเนินการในปี 2558 เกือบทุกเรื่องก็เดินหน้าอย่างอืด ๆ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ที่ยังคงวนเวียนอยู่กับการแก้ไขปัญหาเด็กประถมอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มีการซื้อขายใบปริญญา รวมไปถึงการจ้างทำและคัดลอกวิทยานิพนธ์ ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาจนชาวอุดมศึกษาส่วนหนึ่งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเร่งทำคลอด พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เพื่อเป็นกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลคุณภาพมหาวิทยาลัย แต่ ก็แว่วว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจแท้งก่อน ซึ่งก็คงต้องรอดูต่อไปว่า “ครูใหญ่หนุ่ย” จะมีไม้เด็ดอะไรออกมาจัดการเรื่องนี้
ที่ถือเป็นงานใหม่เอี่ยมอ่องของรัฐบาลชุดนี้ คือ โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยปรับปรุงโครงสร้างเวลาเรียน จากการเรียนในห้องเรียนแบบเต็มวันถึง 16.00 น. ก็ให้เรียนถึง 14.00 น. จากนั้นจะเป็นเวลาของการทำกิจกรรมเสริมทักษะจนถึงเวลาเรียน 16.00 น. โดยปีนี้เริ่มนำร่องในรัฐและเอกชน กว่า 4,100 โรง และมีแนวโน้มจะขยายเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 10,600 โรง ในปี 2559 นอกจากนี้ยังมีการเร่งผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานฝีมือของทั้งประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการร่วมมือกับสถานประกอบการจัดการศึกษารูปแบบทวิภาคีเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา เมื่อเรียนจบก็สามารถทำงานได้ทันที รวมถึงมีการปลุกการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้กลับมาเฟื่องฟู อีกครั้ง โดยใช้ชื่อใหม่ว่า ทวิศึกษา เมื่อเรียนจบจะได้รับ 2 วุฒิ คือ วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และวุฒิ ม.6
ว่าไปแล้วผลงานด้านการศึกษาในรอบปี 2558 ยังคงเป็น การแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ ขนาด คสช.มีอำนาจล้นมือแต่กลับใช้ แค่น้อยนิด แถมงานที่ไม่ได้ใจข้าราชการสุด ๆ เห็นจะเป็นเรื่องการ แต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง ที่มีคำถามตามมามากมาย
อีกประเด็นถ้าจะไม่พูดถึงคงไม่ได้ การรื้อโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถูกมองว่าถอยหลังเข้าคลอง การปลุกชีพ 14 องค์ชาย ตั้งกรมต่าง ๆ ขึ้นแทนแท่งหรือองค์กรหลัก และ ปล่อยให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกไปเป็นทบวงตามความต้องการของชาวมหาวิทยาลัย รวมถึงสภาการศึกษาที่จะกลับไปอยู่ใต้ปีกสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ “บิ๊กหนุ่ย” ได้แย้มออกมาแล้วว่า ปีใหม่นี้สิ่งที่ต้องการทำมากที่สุด คือ การปรับระบบการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สิ่งที่จะได้เห็นก่อนใคร คือ การตั้งกรมวิชาการ และการควบรวบอาชีวศึกษารัฐและเอกชน เพราะโครงสร้างหน่วยงานคือการปูพื้นฐาน ถ้าสามารถวางระบบการบริหารดี เรื่องต่าง ๆ ก็จะดีไปด้วย และยัง อุดช่องว่างของการทุจริต ได้อีก ส่วนภาพการปรับโครงสร้างใหญ่ ตอนนี้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กำลังตบให้เข้าที่ต้องรอดูกันว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
สำหรับแผนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการในปีหน้า 3 เสนาบดี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยงวงศ์ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้ประกาศแล้วว่า จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู โดยเดินหน้าโครงการคืนครูสู่ห้องเรียนด้วยการจ้างครูเกษียณที่มีความเชี่ยวชาญ จำนวน 10,000 คน และโครงการผลิตครูเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นโครงการคุรุทายาทเดิมปีละ 4,000 คน นอกจากนี้ยังเร่งเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้คนไทย โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวันได้จริง แต่ทุกเรื่องที่ว่ามาล้วนเป็นปัญหาที่มีอาการสาหัส ถ้าไม่ทุ่มงบฯอัดฉีดอย่างหนักคงบรรลุเป้าหมายได้ยาก
เปิดศักราชใหม่ ปี 2559 ซึ่งจะเป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ หวังว่าการปฏิรูปการศึกษาภายใต้รัฐบาลทหารจะรวดเร็ว ว่องไว สมกับที่กำลังเข้าสู่ปีลิง รัฐบาลน่าจะใช้โอกาสและอำนาจที่มีอยู่ล้นมือปูพื้นฐานการศึกษาไทยให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน มีหนทางมากมายที่จะทำได้ โดยเฉพาะการออกกฎหมาย หรือนโยบายที่ไม่ว่า นักการเมืองหรือใครหน้าไหนเมื่อเข้ามาก็ล้มหรือเปลี่ยนนโยบายไม่ได้ ถามแค่ว่ารัฐบาลจะกล้าหรือไม่.
ทีมการศึกษา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 ธันวาคม 2558