จากความพยายามของภาครัฐที่ต้องการพัฒนาและส่งเสริมด้านการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นในภาคการศึกษาของเด็กไทย ไม่ว่าจะเพื่อการพัฒนาคน หรือ เพื่อการแข่งขันกับนานาประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านนับเป็น 10 ปี ผลของการปฏิรูปดูเหมือนยังไม่อยู่ในข่ายที่ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ว่า “ประสบความสำเร็จ” ทำให้เกิดการปฏิรูปเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนไม่มีใครสามารถตอบคำถามได้ว่า“จะพบกับความสำเร็จเมื่อใด”
ล่าสุด การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2552-2561 รัฐบาลได้ตั้งเป้ามุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่าง มีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย,เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ,ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม ในการบริหารและจัดการศึกษา โดยทั้ง 3 ประการดังกล่าว กำลังถูกเฝ้ามองถึงความสำเร็จ ท่ามกลางเสียงที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยของกลุ่มคนที่ยังไม่เป็นเอกฉันท์ว่า การศึกษาไทยของไทยต้องการจะเป็นอย่างไร
เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับศักราชใหม่ที่กำลังจะย่างกลายเข้ามา “การศึกษาแนวหน้า”ขอนำ ผลสำรวจอันเป็นเสียงสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย จากผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มาบูรณาการเข้ากับ สภาพแวดล้อมของคนไทยที่กล่าวขานกันอยู่ในสังคมส่วนใหญ่ของชาวไทยวันนี้
ทำให้สามารถมองเห็นถึง ความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีความต้องการให้การศึกษาเดินไปทางไหนได้อย่างเป็นนัยที่สำคัญ ซึ่งไม่ว่าภาครัฐจะมีความเห็นตรงกับเสียงสะท้อนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน “แนวหน้าการศึกษา”ขอกระตุ้น และยืนยันไปทางภาครัฐได้ตระหนักถึงเสียงอันมีค่าเหล่านี้อย่างตั้งอกตั้งใจ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อ“เป็นของขวัญ(ทางด้านการศึกษา) ให้กับมวลชนชาวไทยในช่วงปีใหม่ 2559” นี้
“สวนดุสิตโพล”ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จากจำนวนทั้งสิ้น 1,328 คน ระหว่างวันที่ 5-14 ธันวาคม 2558 สรุปผล ได้ดังนี้
1.ประชาชนคิดว่าการปฏิรูปการศึกษาไทยเรื่องใด? ที่ควรให้ความสำคัญเร่งด่วนมากที่สุด ผลสำรวจ อันดับ 1 ครู 91.94% อันดับ 2 การประเมินและพัฒนามาตรฐานการศึกษา 85.54% อันดับ 3 พัฒนาคุณภาพการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ 78.31% อันดับ 4 การบริหารจัดการ 76.18% อันดับ 5 เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา 66.64% อันดับ 6 หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ 64.46%
2.ณ วันนี้ ประชาชนคิดว่าจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่? ผลของการสำรวจพบว่าอันดับ 1 ควรปรับ 84.49% เพราะ จะทำให้หน่วยงานกำกับดูแลคุณภาพการศึกษาไทยมีมาตรฐาน ไม่ล้าหลังกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน ฯลฯ อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 12.65% เพราะไม่รู้ว่าปรับแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาก็ปรับมาแล้วหลายครั้ง โดยเห็นว่า
การศึกษาจะพัฒนาและมีประสิทธิภาพได้ ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายมากกว่า ฯลฯ อันดับ 3 ไม่ควรปรับ 2.86% เพราะ เสียเวลา เสียงบประมาณ ต้องมาเริ่มใหม่ ควรปรับหรือแก้ไขเพียงบางส่วนที่มีปัญหาเท่านั้น ฯลฯ
3.ทำไม? การปฏิรูปการศึกษาจึงทำได้ยาก ผลสำรวจมีข้อเสนอแนะออกมาดังนี้ อันดับ 1 ระบบการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานกำกับดูแลยังไม่ลงตัว ทำงานล่าช้า ยึดติดแบบเดิมๆ เป็นระบบราชการ 81.33% อันดับ 2 ครูมีปัญหาภาระงานมาก ครูไม่เพียงพอ ขาดสวัสดิการและแรงจูงใจ 71.46% อันดับ 3 ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญ ไม่ปฏิบัติอย่างจริงจัง
ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง 68.60% อันดับ 4 หลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน เปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่ได้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเน้นท่องจำ งบประมาณไม่ทั่วถึง อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่ทันสมัย 67.85% อันดับ 5 สภาพเศรษฐกิจและสังคม ฐานะความเป็นอยู่ความเหลื่อมล้ำ
จากผลแห่งความเห็นอันเกิดจากการสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ในช่วงสิ้นปีดังกล่าว ไม่อาจปฏิเสธ ถึงเสียง ส่วนใหญ่(ส่วนหนึ่ง)ของคนไทยทั้งประเทศได้ว่า น่าจะมีเสียงที่มีความคิดเห็นตรงกันกับโพลล์ดังกล่าวอีกมาก ที่ต้องการเรียกร้องขอของขวัญปีใหม่ทางด้านการศึกษาให้กับเยาวชนไทย และอนาคตของคนไทยที่จะต้องเดินอยู่บนเส้นทางของการแข่งขันกับนานาประเทศ
ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากกว่าที่เคยปฏิรูปกันมาในอดีต
ที่มา แนวหน้า วันที่ 31 ธันวาคม 2558