รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของกระทรวงศึกษาธิการว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่กระบวนการปฏิบัติอาจจะยังมีปัญหา เพราะการเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้ไม่ใช่การเปิดชุมนุมหรือชมรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เด็กได้มีทางเลือกในการทำกิจกรรมมากขึ้น แต่การเพิ่มการเรียนรู้ของเด็กคือการให้เด็กได้คิด ลงมือทำ โดยครูช่วยเหลาความคิดให้กับเด็ก เป็นการฝึกเด็กให้รู้จักกระบวนการคิด การทำ เรียนรู้บทบาทการเป็นผู้นำและผู้ตาม
รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวด้วยว่า การสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กสามารถนำโจทย์จากปัญหาใกล้ตัวหรือปัญหาสังคมมาเป็นตัวตั้งได้ อย่างเช่น กระบวนการเรียนรู้ในการเท่าทันสื่อ เพศ สุขภาวะ หรือทักษะการใช้ชีวิต ทำอย่างไรในการช่วยลดโลกร้อน วิธีการประหยัดพลังงาน การวางแผนในการใช้จ่าย เป็นต้น อย่างไรก็ตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้จะไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้ หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินผลที่ยังคงมุ่งเน้นระบบแพ้คัดออก ซึ่งเป็นรากเหง้าฝังลึกในระบบการศึกษาไทย เด็กไทยก็ยังคงต้องเรียนมากเพื่อเป้าหมายในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ธุรกิจการติวเตอร์ก็ยังบูม ซึ่งตนได้เสนอให้ล้มเลิกระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมานานแล้วแต่ก็ยังไม่เกิดผล โดยเสนอแนวทางให้เป็นลักษณะของการทำความร่วมมือหรือเอ็มโอยูระหว่าง มหาวิทยาลัยกับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายว่าหากโรงเรียนเน้นสอนกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กก็สามารถนำเด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้เลยโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก.
ที่มา ไทยรัฐฉบับพิมพ์ วันที่ 2 มกราคม 2558