เวลาล่วงเลยมา 1 ปี 4 เดือน ตั้งแต่รัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศและเดินหน้าประกาศ “ปฏิรูปประเทศไทย” ทั้ง 11 ด้าน เพื่อ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ตามสโลแกน
การปฏิรูปด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน เป็น 1 ใน 11 ด้านที่ถูกกำหนดว่าต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เพราะเชื่อว่าการวางรากฐานทางการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพย่อมส่งผลต่อการพัฒนาในทุกๆด้าน
“ทีมการศึกษา” ขอส่งท้ายปีแพะด้วยการแกะรอยการปฏิรูปการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ดูเสมือนจะเห็น “แสงไฟอยู่ปลายอุโมงค์” เมื่อทุกฝ่ายขานรับและตระหนักถึงความสำคัญ ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการโดย คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ไม่ต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว เพราะมีหน่วยงานหลายฝ่ายเข้ามาร่วมขับเคลื่อน ทั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมไปถึง ภาคประชาสังคม
และที่สำคัญซึ่งเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลเอาจริงต่อการปฏิรูปการศึกษา คือการแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ “ซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา” ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือน มี.ค.2558 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งยังส่งเทียบเชิญ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ และ ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอมาเป็นกุนซือ
ทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนา การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการเรียนรู้ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมเสนอแนะมาตรการและแนวทางการตัดสินใจเชิงรุก เพื่อให้การขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ประเด็นหลักที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ “บิ๊กตู่” ผู้นำรัฐนาวาเน้นย้ำในการประชุมซุปเปอร์บอร์ดคือ ต้องทำให้การศึกษาไทยเป็นการศึกษาที่มีความสุข ทั้งนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี จบแล้วมีงานทำ แข่งขันในระดับนานาประเทศได้ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
กว่า 7 เดือนนับตั้งแต่เปิดศักราชปีแพะ 2558 กระทรวงศึกษาธิการซึ่งกุมบังเหียนโดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย หรือ “บิ๊กเข้” ได้วางโรดแม็ปปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืนไว้ 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วนที่จะลุยในปี 2558 ระยะ กลางที่จะขับเคลื่อนในปี 2559-2564 และระยะยาวตั้งแต่ปี 2565-2569
แต่เราขอหยิบยกประเด็นสำคัญที่จะเดินหน้าปฏิรูปเร่งด่วน 6 ด้านคือ การปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงิน การปฏิรูประบบข้อมูลและสารสนเทศทางการศึกษา การปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ การปฏิรูปกฎหมายการศึกษา และการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู โดยตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนทั้ง 6 คณะ
พร้อมชงร่างวิสัยทัศน์และกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษา ระยะเวลา 5 ปี ต่อซุปเปอร์บอร์ด โดยตั้งเป้า ภายในปี 2563 ผลการจัดอันดับความสามารถด้านการศึกษาของไทยต้องดีขึ้นอย่างน้อย 5 อันดับ นักเรียนไทยต้องสามารถสื่อสารได้อย่างน้อย 2 ภาษา
Advertisement
ส่วนเรื่อง การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงนั้นแม้จะมีผู้เสนอเข้ามาเป็นระลอก แต่ “บิ๊กเข้” เจ้ากระทรวงคุณครูในสมัยนั้นได้ให้ชะลอไว้ก่อน โดยขอให้พุ่งเป้าไปที่ การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่เห็นผลในห้องเรียน แม้ภายหลังจะ “เสียงอ่อน” ยอมรับว่ากระทรวงคุณครูมีความอุ้ยอ้าย แต่ก็ขอให้ผู้บริหารองค์กรหลักกลับไปหารือให้ตกผลึกเสียก่อน
แต่แล้วเมื่อวันที่ 19 ส.ค.2558 ก็มีการ เปลี่ยนม้ากลางศึก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พ้นตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี แล้วส่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เข้ามากุมบังเหียนแทน
นโยบายแรกที่ประกาศออกมาคือ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยให้เลิกเรียนบ่ายสองโมง จากนั้นให้โรงเรียนจัดกิจกรรมพัฒนาความรู้ตามความสนใจของเด็ก ตรงเป๊ะตามนโยบายนายกฯที่อยากเห็นเด็ก ครูและผู้ปกครองมีความสุข ดีเดย์ตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการ ศึกษา 2558 นำร่องในโรงเรียน 3,837 โรงทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าขยายเป็น 14,500 โรง ในปี 2559 และเต็ม 100% ในปี 2560
ตามมาด้วย การปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ที่ดึงผู้เชี่ยวชาญจาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มาวางระบบการจัดการเรียนการสอน พร้อมจัด “เทรนเนอร์ชั้นนำ” จากต่างประเทศ 50 ชีวิต มาอบรมครูเก่งที่เฟ้นมาจากทั่วประเทศร่วม 500 คน ในเดือน มี.ค.2559 ก่อนสั่งเดินเครื่องเต็มลูกสูบ เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559
ลงลึกไปถึง การปฏิรูประบบการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา ที่ปรับเปลี่ยนบนหลักการว่าตัวชี้วัดในการประเมินสถานศึกษาแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และไม่จำเป็นต้องเยอะ แต่ควรบ่งบอกได้ว่าการประเมินนั้นเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง
นั่นนำมาซึ่งสิ่งที่หลายภาคส่วนเริ่มจะเห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” และมองว่ากระทรวงศึกษาธิการกำลังเดินมาถูกทางแล้ว!!!
แต่จู่ๆช่วงเดือน ต.ค.ก็เกิดอาการ “สะดุด” ขาตัวเอง เมื่อมีการเปิดประเด็น การปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรูปแบบที่เรียกว่า single command มีปลัดกระทรวงเป็นผู้สั่งการเพียงคนเดียว โดยยุบ 5 องค์กรหลักเปลี่ยนสถานะเป็นกรม ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรมปฐมวัยและประถมศึกษา กรมมัธยมศึกษา กรมวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กรมการศึกษาพิเศษ กรมอาชีวศึกษา และกรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยมีสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-13 และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นส่วนเชื่อมโยงกับส่วนกลาง
“โยนหินถามทาง” จาก พล.อ.ดาว์พงษ์ หรือไม่??? คือสิ่งที่สังคมตั้งคำถาม พร้อมๆกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะการเสนอใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาปรับโครงสร้างกระทรวง ซึ่งแม้จะมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วเสียงสวดยับกลับมีมากกว่า
เพราะต้องยอมรับด้วยจำนนต่อ “หลักฐาน” ว่าการปฏิรูปการศึกษา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ทศวรรษแรกเมื่อปี 2540-2550 และทศวรรษที่ 2 ตั้งแต่ปี 2552-2561 ซึ่งแม้รอบหลังจะล่วงเลยมาได้เพียงปี 2557 ก็โดนรัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจ แต่การศึกษาไทยก็เหมือนยังไม่ได้ปฏิรูป เพราะผลผลิตจากการศึกษายังคง “เต็มไปด้วยปัญหา” และ “ด้อยคุณภาพ”
ทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยที่ยังตกต่ำ เรียนเยอะแต่ไร้ความรู้ มาตรฐานของสถานศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน ขาดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน ทั้งการคิด วิเคราะห์ และแสวงหาความรู้ ขาดคุณธรรม จริยธรรม ปัญหาครูขาดแคลน ไร้เงาคนเก่ง คนดีมาเป็นครู การกระจายอำนาจยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน ซึ่งดูแล้วเป็นปัญหาที่ย้อนกลับไปสู่ “วังวน” เดิมๆ
“ทีมการศึกษา” มองว่าสาเหตุที่กระทรวงศึกษาธิการถูกสังคมตราหน้าว่า “ปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว” อย่างไม่เป็นท่า ประเด็นสำคัญประการหนึ่งมาจากการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาเรามัวแต่ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างที่เป็นแค่ “เปลือก” จนละเลยหลงลืม “แก่น” ซึ่งถือเป็นหัวใจหลัก นั่นคือ “การพัฒนาคุณภาพคน”
เราไม่ได้บอกว่าการปรับโครงสร้างเป็นเรื่องไม่ดี ไม่สมควรทำ เพราะโครงสร้างการบริหารงานที่ดีย่อมนำไปสู่ความสำเร็จ แต่เรามองว่าในห้วงเวลาอันสำคัญของการปฏิรูปประเทศเช่นนี้ ควรพุ่งเป้าไปที่เรื่องของคุณภาพเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปหลักสูตร การปฏิรูปการเรียนการสอน การปฏิรูปครู และสารพัดโครงการที่คลอดออกมาเป็นของขวัญปีใหม่ ทั้งฟื้นคุรุทายาท คืนครูสู่ห้องเรียน เด็ก ป.1 อ่านออกเขียนได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ และขยายทวิภาคี
เพราะนั่นเป็นการปฏิรูปที่จะตอบโจทย์เรื่องของ “คุณภาพ” การศึกษาของเด็กไทยอย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องโครงสร้างที่ใช้อยู่ หากในอนาคตพบว่าไม่สามารถตอบสนองการปฏิรูปการศึกษาได้จริง ก็ย่อมขอยกเป็นโจทย์ข้อต่อไปที่จะเดินหน้าปรับเปลี่ยนได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
และก่อนย่างก้าวเข้าสู่ปีวอก 2559 “ทีมการศึกษา” ขอฝากความหวังไว้กับรัฐบาลที่มีสิทธิ์ขาดอำนาจในมือว่า ขอให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นเพียงแค่การสะดุด เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างมีความหวัง ไม่ใช่เดินเกมผิดจนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
อย่าทำให้เด็กไทยเสียโอกาส เพราะผู้ใหญ่มัวเดินหลงทาง และความหวังที่จะ “ปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ” ต้อง “ล่ม” ซ้ำซาก!!!
ทีมการศึกษา
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 30 ธันวาคม 2558