บทสรุปผู้บริหาร
การวางแผนและการกำหนดนโยบายทางการศึกษา จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้องและทันสมัย เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาการศึกษาได้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้จัดทำสถิติการศึกษาของประเทศไทย ปีการศึกษา 2556 - 2557 ขึ้น โดยมีข้อมูลและสารสนเทศทางการศึกษาเกี่ยวกับสภาพและแนวโน้มการจัดการศึกษาในภาพรวม ปีการศึกษา 2553 – 2557 ดังต่อไปนี้
1. จำนวนนักเรียน นักศึกษาในระบบโรงเรียน ปีการศึกษา 2557
นักเรียน นักศึกษาอายุ 3-21 ปี มีจำนวน 12.8 ล้านคน (ไม่รวมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) ลดลงจากปีการศึกษา 2553 ร้อยละ 3 หรือประมาณ 0.4 ล้านคน ในระดับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี (อายุ 6-14 ปี) มีจำนวนนักเรียน นักศึกษา 7.2 ล้านคน ลดลงจาก ปีการศึกษา 2553 ร้อยละ 7.6 หรือประมาณ 0.6 ล้านคน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี (อายุ 6-17 ปี) มีจำนวนนักเรียน นักศึกษา 9.3 ล้านคน ลดลงจากปีการศึกษา 2553 ร้อยละ 6 หรือประมาณ 0.57 ล้านคน และการศึกษาระดับอุดมศึกษา (อายุ 18-21 ปี) มีจำนวนนักเรียน นักศึกษา 1.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2553 ร้อยละ 18 หรือประมาณ 0.28 ล้านคน
โดยสรุปจำนวนนักเรียน นักศึกษาทุกระดับการศึกษามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นการศึกษาระดับอุดมศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 ถึง 2557
2. จำนวนนักเรียน นักศึกษารายชั้นต่อประชากรในระบบโรงเรียน ปีการศึกษา 2556
มีสัดส่วนที่สูงในระดับประถมศึกษาและน้อยลงในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยสัดส่วนนักเรียนต่อประชากรในระดับประถมศึกษาที่อายุ 6-11 ปี เกินร้อยละ 90 ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่อายุ 12-14 ปี เกินร้อยละ 85 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่อายุ 15-17 ปี ในระดับชั้น ม.4/ปวช.1 ไม่ถึงร้อยละ 85 แต่ในระดับ ม.5/ปวช.2–ม.6/ปวช.3 ไม่ถึงร้อยละ 80
โดยที่สัดส่วนนักเรียนประเภทสามัญศึกษาต่ออาชีวศึกษาเป็น 67 : 33 และอัตราส่วนนักเรียนนักศึกษาต่อประชากรในระดับอุดมศึกษาในชั้นปีที่ 1 มีถึงร้อยละ 57.9
3. อัตราส่วนนักเรียน นักศึกษาต่อประชากร ปีการศึกษา 2557
ในระดับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ร้อยละ 96.7 ลดลงจากปีการศึกษา 2553 ประมาณร้อยละ 1.5 การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ร้อยละ 91.4 ลดลงจากปีการศึกษา 2553 ประมาณร้อยละ 0.6 การศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 100.4 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2553 ประมาณร้อยละ 3.6 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นร้อยละ 89.9 ลดลงจากปีการศึกษา 2553 ประมาณร้อยละ 10.7
ยกเว้นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 76.8 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2553 ประมาณร้อยละ 3.5 และระดับอุดมศึกษา เป็นร้อยละ 49.3 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2553 ประมาณร้อยละ 14.9 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4. โอกาสทางการศึกษาของนักเรียนในระบบโรงเรียน ปีการศึกษา 2556
นักเรียน นักศึกษาอายุ 3-21 ปี มีโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียนร้อยละ 80 หรือประมาณ 13 ล้านคน (ไม่รวมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) จากทั้งหมด 16.3 ล้านคน ลดลงจากปีการศึกษา 2553 ประมาณร้อยละ 1.7 โดยในระดับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี (อายุ 6-14 ปี) ปีการศึกษา 2556 มีโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียนร้อยละ 96 หรือประมาณ 7.3 ล้านคน จากทั้งหมด 7.6 ล้านคน ลดลงจากปีการศึกษา 2553 ประมาณร้อยละ 6.8 และในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี (อายุ 6-17 ปี) ปีการศึกษา 2556 นักเรียนมีโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียนร้อยละ 91 หรือประมาณ 9.4 ล้านคน จากทั้งหมด 10.3 ล้านคน ลดลงจากปีการศึกษา 2553 ประมาณร้อยละ 4.7
โดยที่อัตราส่วนระหว่างครูต่อนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อายุ 3-17 ปี) อยู่ที่ 1 : 18 ส่วนระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ 1 : 27
5. อัตราการเรียนต่อของนักเรียนระดับประถมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2555
ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในปีการศึกษา 2556 ร้อยละ 100.8 นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2555 ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในปีการศึกษา 2556 ร้อยละ 73.0 โดยศึกษาต่อในสายสามัญมากกว่าสายอาชีวศึกษา
6. ดัชนีความเสมอภาคทางเพศ (GPI) ปีการศึกษา 2556
ในระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาเท่ากัน คือ 0.94 โดยมีนักเรียนผู้ชายมากกว่านักเรียนผู้หญิงเล็กน้อย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีความเสมอภาคทางเพศ และความเสมอภาคทางเพศในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษาเท่ากับ 1.18 และ 1.30 ตามลำดับ นั่นคือจำนวนนักเรียน นักศึกษาเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
7. อัตราการคงอยู่ต่อรุ่น ปีการศึกษา 2556
ในระดับประถมศึกษาที่เริ่มเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ ป.1 ปีการศึกษา 2551 ถึง ป.6 ปีการศึกษา 2556 มีอัตราการคงอยู่ต่อรุ่นร้อยละ 93.1 ลดลงจากปีการศึกษา 2555 ประมาณร้อยละ 2.4 การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่เริ่มเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ ม.1 ปีการศึกษา 2554 ถึง ม.3 ปีการศึกษา 2556 มีอัตราการคงอยู่ต่อรุ่นร้อยละ 92.7 ลดลงจากปีการศึกษา 2555 ประมาณร้อยละ 1.87 และการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เริ่มเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ ม.4/ปวช.1 ปีการศึกษา 2554 ถึง ม.6/ปวช.3 ปีการศึกษา 2556 มีอัตราการคงอยู่ต่อรุ่นร้อยละ 86.2 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2555 ประมาณร้อยละ 2.9
โดยอัตราการคงอยู่ต่อรุ่นของการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทอาชีวศึกษาน้อยกว่าประเภทสามัญศึกษา
8. อัตราการคงอยู่ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2556
โดยเริ่มจากการเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ ชั้น ป.1 ปีการศึกษา 2545 ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6/ปวช.3) ปีการศึกษา 2556 คงอยู่ร้อยละ 63.0 โดยมีอัตราการคงอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1) ในปีการศึกษา 2551 ร้อยละ 89.1 และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4/ปวช.1) ในปีการศึกษา 2554 ร้อยละ 73.1
โดยในช่วงที่มีการเลื่อนชั้นจากการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไปศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีการตกหล่นของนักเรียนมากที่สุด
9. การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ปีการศึกษา 2556
ในภาพรวมสถาบันการศึกษาเอกชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาร้อยละ 19.2 โดยมีส่วนร่วมการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษามากที่สุดถึงร้อยละ 23.3 รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษาร้อยละ 21.1 และน้อยที่สุดเป็นการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 14.0
10. งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 – 2558
มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด โดยที่ร้อยละของงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณรายจ่ายทั้งหมด มากที่สุดในปี 2550 และในปี 2558 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 ในขณะที่ร้อยละของงบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มากที่สุดในปี 2552 และในปี 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2557
*ผู้สนใจสามารถติดต่ออ่านเอกสารดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่