คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สุชาฎา ประพันธ์วงศ์
การประหยัดค่าไฟฟ้ามีด้วยกันหลายวิธี แต่จะประหยัดยังไงให้เห็นเม็ดเงิน แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เรื่องนี้ต้องปรึกษาวิศวกรไฟฟ้า เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่อยู่กับกระแสไฟ ผู้มีความรู้เรื่องไฟ
เมื่อครั้งที่ได้ไปสอบถามเรื่องการประดับประดาไฟเฉลิมพระเกียรติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา
ในวงสนทนาวันนั้น ยังได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างไรให้ประหยัด
วิศวกรผู้คุมงานไฟประดับเฉลิมพระเกียรติ การไฟฟ้านครหลวง "พิชิตคเชนทร์ คณีกุล" แนะนำข้อควรปฏิบัติในการเซฟเงินในกระเป๋าไม่ให้รั่วไปตามกระแสไฟฟ้า
ด้วยวิธีการง่าย ๆ ที่ทุกคนทำได้
ก่อนอื่นต้องสำรวจก่อนว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน บางรุ่นบางยี่ห้อทนทานนานหลายสิบปี แต่ถ้าเกิน 20 ปี ให้รีบโละอย่างเร็ว
จริงอยู่ที่ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่คงทน ทำให้ไม่ต้องควักเงินซื้อบ่อย ๆ แต่การควักค่าไฟฟ้าเพื่อป้อนกระแสไฟเข้าไปในอุปกรณ์โบร่ำโบราณนั้นสิ้นเปลืองกว่าหลายเท่า
ไม่เฉพาะเครื่องปรับอากาศ แต่ยังหมายรวมถึงตู้เย็น พัดลม ไดร์เป่าผม หม้อหุงข้าว และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ด้วย
สรุปความได้ว่า เก่าระดับ 20+ ควรรีบเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะตู้เย็น เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่คงทนมากทีเดียว และหลายคนก็ไม่ค่อยอยากเปลี่ยนเสียด้วย
หากผู้ใช้ไฟยอมลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ตัวใหม่ วิศวกรไฟฟ้าให้ความมั่นใจว่า เงินที่จ่ายค่ากระแสไฟไปสามารถนำมาซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆได้หลายตัวเลยทีเดียว
สำหรับวิธีที่จะเห็นเม็ดเงินเหลือจากค่าไฟมหาโหดในแต่ละเดือน โดยเฉพาะเดือนที่แสนร้อนของเมืองไทย
วิศวกรไฟฟ้าแห่งนครหลวง แนะนำว่า ถ้าอยากมีเงินเก็บในกระเป๋าเพิ่มเดือนละ 1 พันบาท
ทำได้ไม่ยาก
วิธีการก็คือ ก่อนจะเปิดแอร์ในห้องนอน ให้เปิดพัดลมระบายอากาศที่ร้อนอบอ้าวในห้องออกไปก่อน เพราะบ้านสมัยปัจจุบันเป็นปูน และผนังปูนก็จะเก็บความร้อนได้ดี ดังนั้นก่อนเปิดแอร์ให้เปิดหน้าต่าง ประตู แล้วใช้พัดลมไล่อุณหภูมิร้อนออกไปก่อน
จากนั้นจึงทำการเปิดแอร์ และเมื่อแอร์เริ่มทำความเย็นในแบบที่ทำให้หลับสนิท ช่วงเวลาประมาณตี 2 ให้ตั้งเวลาปิดแอร์ไว้ เพราะช่วงเวลาหลังจากนั้น จะหลับสนิทและความเย็นจะเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง โดยใช้การเปิดพัดลมเบา ๆ ช่วยระบายอากาศและจะรู้สึกเย็นจนเช้าตรู่
ความสำคัญของการเปิดพัดลมในตอนนอน จะช่วยให้ผิวหนังเก็บความชุ่มชื้นได้ดีกว่าการเปิดแอร์หากตื่นมาแล้วผิวจะแห้งกว่า และอย่าลืมเปิดช่องระบายลมจะช่วยให้ควบคุมความชื้นในห้องได้อีกด้วย
อย่าลืม ปรับอุณหภูมิให้มาอยู่ที่ 25-26 องศาเซลเซียล แล้วใช้การเปิดพัดลมช่วย จะทำให้ประหยัดค่าไฟได้ถึงเดือนละ 1 พันบาท เพราะพัดลม 1 ตัวกินไฟไม่เกิน 100 วัตต์ ขณะที่แอร์กินไฟถึง 2,000 วัตต์
หากรู้จักปรับ
ลองเริ่มจากการปรับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 3-5 องศา ค่าไฟจะลดลง 10% หรือปรับลงมาที่ประมาณ 26 องศา แล้วเปิดพัดลมช่วยจะทำให้เย็นขึ้นและสดชื่นมากกว่าเดิม
และที่สำคัญ การล้างแอร์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้ประหยัดค่าไฟรายปีลงได้อีกมาก จ่ายค่าล้างแอร์ 500-700 บาท แลกกับค่าไฟที่ลดลง ต้องถือว่าคุ้มเกินคุ้ม
เพราะหลายคนมักจะรอจนกว่าแอร์ไม่เย็นถึงจะล้าง แบบนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ?
วิศวกรไฟฟ้านครหลวง ยังแจ้งโครงการดี ๆ ในปีนี้ ที่ทาง กฟน.จัดทำขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน โดยการจัดเจ้าหน้าที่ล้างแอร์ส่งถึงบ้าน ในราคา 300 บาทโดยส่วนต่างที่เหลือทาง กฟน.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ เพื่อกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯ หมั่นล้างแอร์ แล้วจะพบผลลัพธ์ที่แตกต่าง ปีนี้จะมีการเพิ่มจำนวนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา
เนื่องจากปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแสดงความจำนงในการล้างแอร์เป็นจำนวนมากกว่าทุกครั้ง
ต้องรอติดตามข่าวสารว่า กฟน.จะประกาศโครงการนี้อีกครั้งเร็ว ๆ นี้ ใครสนใจก็รับลงทะเบียนเข้ารับบริการได้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 ธันวาคม 2558