ข่าวครูที่จะเกษียณอายุราชการในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาสร้างความฮือฮาให้กับคนแวดวงการศึกษาพอสมควร เพราะเป็นความหวังของผู้ที่จะก้าวสู่วิชาชีพแม่พิมพ์ว่าจะมีอัตรารองรับในอนาคตแน่นอน แต่อีกส่วนหวั่นว่าจำนวนการผลิตที่ได้คุณภาพ จะผลิตไม่ทันความต้องการ โดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนข้าราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะเกษียณอายุราชการในอีก 15 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2556-2570) พบว่าจะมีข้าราชการครูเกษียณทั้งหมด 288,233 ราย โดยปีที่มีครูเกษียณจำนวนสูงสุดคือ ปี พ.ศ.2562 จำนวน 28,246 คน ส่วนสาขาที่มีความต้องการมากที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-2562 มีจำนวน 5 สาขา ได้แก่ คณิตศาสตร์ 14,399 ราย, ภาษาอังกฤษ 13,852 ราย, ภาษาไทย 11,454 ราย, สังคมศึกษา 7,487 ราย, วิทยาศาสตร์ 7,462 ราย ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีความต้องการครูสาขาภาษาอังกฤษมากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องกล การจัดการทั่วไป คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็คือข้อมูลของผู้เกษียณแต่ละปี ไม่ใช่ตัวเลขความต้องการครูแต่ละปีหรือแต่ละสาขา จำเป็นต้องมีการสำรวจตัวเลขครูที่ต้องการอย่างละเอียดเพื่อการผลิตที่ถูกต้อง
โดย น.ส.วัฒนาพร สุขพรต รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ระบุว่า ข้อมูลครูเกษียณอายุราชการในแต่ละปี ไม่ได้เป็นตัวเลขความต้องการครูในแต่ละสาขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพราะเราไม่สามารถบรรจุครูตามจำนวนครูที่เกษียณอายุได้ทันที นอกจากนี้ การจะพิจารณาจำนวนผลิตครูตามความต้องการของประเทศนั้น ต้องคำนึงถึงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเรามีเด็กเกิดใหม่น้อยลง ดังนั้น จึงต้องมีหน่วยงานที่ช่วยหาจำนวนตัวเลขความต้องการครูแต่ละสาขาของแต่ละสังกัดอย่างแท้จริง แนวทางหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์คุณภาพบัณฑิตครูนั่นคือโครงการคุรุทายาทที่มุ่งผลิตครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู ดีและเก่ง ซึ่งขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
Advertisement
โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือโครงการคุรุทายาทร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ศธ. ได้พิจารณารูปแบบการดำเนินการ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ศธ. ดูแลเรื่องการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบ โดยมีหลักการที่จะผลิตครูที่ดี เก่ง และตรงกับความต้องการ ลงสอนในพื้นที่ขาดแคลน ที่สำคัญเด็กจะรู้ล่วงหน้าว่าจะสอนโรงเรียนไหน ซึ่งจะมีอัตรารองรับหลังเรียนจบ ทั้งในโรงเรียนในสังกัด สพฐ. และสถานศึกษาในสังกัด สอศ. โดยมี สกอ. เป็นเจ้าภาพในการกำหนดรายละเอียดและกติกาของโครงการ "ผมให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อย่างช้าไม่เกินเดือนมกราคม 2559 และเสนอ ครม. เห็นชอบเพื่อจะได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2559" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว โครงการคุรุทายาทเป็นโครงการระยะ 10 ปี (พ.ศ.2559-2569) โดย ศธ. ตั้งเป้าว่าจะผลิตบัณฑิตครูได้ทั้งสิ้น 46,000 กว่าอัตรา และจะไม่เปิดรับเฉพาะนักศึกษาที่เพิ่งจบ ม.6 เท่านั้น แต่จะรับนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ขึ้นไปที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ส่วนงบประมาณในการดำเนินการ คิดว่าคงใช้ไม่มาก เพราะจะใช้ระบบของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาใช้ นอกจากนี้ ศธ. ยังมีแนวคิดว่าเมื่อเด็กเรียนจบแล้ว เมื่อไปปฏิบัติการสอนได้ระยะหนึ่ง อาจจะ 2-3 ปี ถ้าต้องการเรียนระดับปริญญาโท ก็จะส่งเสริมให้เรียน โดย ศธ. จะมีทุนให้เรียนต่อในต่างประเทศ เมื่อจบแล้วก็ต้องกลับมาใช้ทุนสอนในโรงเรียนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การบรรจุครูหนึ่งคนจะอยู่ในระบบกว่า 30 ปี หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา เกิดจากการปฏิรูปครู แต่ประเทศไทยกลับเน้นการปฏิรูปโครงสร้าง เราจึงต้องให้ความสำคัญโดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกครู ที่ควรใช้ข้อสอบอัตนัยบ้าง หรือการสอบครูผู้ช่วยที่มีผู้สอบได้เพียง 19% จากผู้สอบแสนกว่าคน แสดงให้เห็นถึงการผลิตครูที่ด้อยคุณภาพ รวมไปถึงบัณฑิตครูที่ว่างงานเพราะผลิตครูไม่สอดคล้องกับการต้องการ ครูควรเป็นต้นแบบที่ดีทั้งการสอนและการใช้ชีวิต จึงอาจต้องยอมเสียเวลาเพิ่มในการฝึกครูผู้ช่วยเพิ่ม 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อคัดครูที่เป็นคนดีและมีคุณธรรม อีกทั้งขณะนี้เรายังขาดแคลนครูอาชีวศึกษาด้วย ซึ่งการร่วมมือระหว่างอาชีวศึกษากับสถาบันอุดมศึกษาผลิตครู เป็นอาชีวะอุดมศึกษา น่าจะเป็นทางออกที่ดี "การแก้ปัญหาครูขณะนี้ยังไม่ถูกจุด ฝ่ายการเมืองแก้ปัญหาโดยเน้นเรื่องหนี้สินครู เพิ่มเงินเดือน และตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดของตนเอง โดยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังแก้ไขนั้น จะต้องวางแนวทางป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่ง กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ทำตามแผนการศึกษาที่วางไว้ สำหรับทางออกของวิกฤตครู จะต้องเริ่มจากแก้ไขระบบคัดเลือกครู ฟื้นฟูคุรุทายาท เพราะเราจะได้ครูที่เก่งจริงๆ จัดตั้งสถาบันครุศึกษาแห่งชาติเพื่อมาดูแล ผลิตครูระบบปิด ต้องการครูเท่าไร สาขาไหน ต้องชัดเจน ไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งกับนโยบายการผลิตครู และสนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ที่เปิดสอนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่ผลิตครูอย่างเข้มแข็งมายาวนาน เพราะหากปล่อยไป จะส่งผลให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องรับนักศึกษาจำนวนมาก เพื่อให้มีรายได้ ซึ่งเป็นการผลักดันให้เข้าสู่วังวนธุรกิจอุดมศึกษา" นายสมพงษ์ กล่าว
ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่หลายหน่วยงานจะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาให้ดีขึ้น เพราะขณะนี้ประเทศไทยกำลังขาดแคลนคนด้านฝีมือแรงงาน การผลิตนักศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาและจากสถาบันอุดมศึกษาก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมไปถึง สอศ. ก็ยังขาดแคลนครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านฝีมือแรงงาน โดยอยากให้ทุกฝ่ายบูรณาการการทำงานร่วมกันว่าจะผลิตกำลังคนด้านไหน สาขาใด และจำนวนเท่าไร เพราะแต่ละสถาบันที่เปิดสอนต่างมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน อยากให้ผลิตในส่วนที่ตัวเองเปิดสอนไว้อยู่แล้วให้มีความพร้อม เพื่อที่จะสามารถรองรับความต้องการกำลังคนด้านฝีมือแรงงานจำนวนมากในอนาคต
ด้าน นางสมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดี มรภ.วไลยอลงกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า มองว่าการรวมกันระหว่างอาชีวศึกษากับสถาบันอุดมศึกษาจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งได้ แต่ถ้ารวมเป็นสถาบันเดียวกันไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายนัก เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ เพราะแต่ละที่ต่างก็มีปรัชญาต่างกัน หากร่วมมือกันจัดการศึกษาน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า ปัญหาคุณภาพครู วิกฤตพอๆ กับปัญหาขาดแคลนครู ซึ่งนอกจากจะใช้โครงการคุรุทายาทมาช่วยแก้ไขปัญหาแล้ว แนวทางการทดสอบก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยต้องทดสอบความรู้ ไม่ใช่ทดสอบความจำ อีกทั้งควรใช้การผลิตรูปแบบระบบปิด เนื่องจากที่ผ่านมามีการผลิตครูมากจนล้นตลาด และที่สำคัญควรต้องปฏิรูปครูและระบบการวัดผลประเมินผลด้วย อีก 15 ปีข้างหน้า ครูจะเกษียณเกือบ 3 แสนราย ซึ่ง ศธ. จะได้อัตราคืนมาทั้งหมด ดังนั้น ศธ. จึงควรถือโอกาสนี้ สังคายนาระบบการผลิตครูใหม่ เพื่อให้ได้แม่พิมพ์ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ธ.ค. 2558