บทความโดย สิริกร มณีรินทร์
ที่มา มติชนรายวัน 23 ธันวาคม 2558
ไม่นานมานี้ เกาหลีสลัดแอกการเป็นเมืองขึ้นอันยาวนาน 35 ปีของญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2488 ก่อนเข้าสู่สงครามโหดร้ายถึงสี่ปี ช่วง พ.ศ.2493-2496 ความบอบช้ำยาวนานทำให้เกาหลีเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลกในเวลานั้น ต่อมาก็ยังเผชิญภัยเศรษฐกิจต้มยำกุ้งพร้อมไทยในปี พ.ศ.2540
แต่วันนี้ดินแดนโสมสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกขานว่า "มหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำฮัน" จากการฝ่าวิกฤตขึ้นมายืนแถวหน้าได้เร็วอย่างก้าวกระโดด ที่น่าทึ่งคือพลเมืองเกาหลีใต้ 50 ล้านคน สร้างชาติซึ่งไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายมาเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าตีตลาดโลกเป็นลำดับต้นๆ ด้วยนวัตกรรมล้ำยุคควบคู่ไปกับสินค้าที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ความเจริญรุ่งเรืองมิได้อยู่ที่ค้นหาองค์ความรู้ใหม่เท่านั้น แต่พยายามหาสมดุลของความทันสมัยทางเทคโนโลยีกับจิตวิญญาณและภูมิปัญญาดั้งเดิม
คนเกาหลีใต้พูดอย่างภูมิใจว่าความสำเร็จนี้มาจากพลังที่ดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูชาติด้วยการศึกษาวันที่เป็นอิสระจากญี่ปุ่นนั้น แทบไม่มีชาวเกาหลีที่มีการศึกษาสูงพอที่จะเป็นครูได้เลย ชาวเกาหลีไม่รู้หนังสือและอ่านไม่ออกถึง 78% แต่ด้วยความมุ่งมั่น รัฐบาลเร่งปฏิรูปการศึกษาจริงจังจนขจัดภาวะไม่รู้หนังสือได้ในปี พ.ศ.2532 เกาหลีเพิ่มจำนวนคนรู้หนังสือขึ้นมาได้ถึง 93% และมีจำนวนผู้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาสูงสุดในกลุ่มประเทศ OECD คือ 65% ของประชากรอายุ 25-34 ปี
เราจะเห็นคุณลักษณะของคนเกาหลีใต้ที่ประเทศอยากให้เป็น และรัฐได้ออกแบบการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้สอดคล้องกับความต้องการของชาติ ใน พ.ร.บ.การศึกษาของเขาฉบับปัจจุบัน ที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2551 มีเพียง 3 หมวด 29 มาตรา แต่ดลบันดาลความเปลี่ยนแปลงได้จริงเมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติของไทยซึ่งมี 9 หมวด 78 มาตรา กฎหมายการศึกษาของเกาหลีใต้และของญี่ปุ่นคล้ายคลึงในหลายประเด็น
ที่น่าสนใจคือมาตราที่ว่าด้วยSchool education และ Social Education แปลตรงตัวว่าการจัดการเรียนรู้ในสังคม ซึ่งก็คือการจัดการศึกษาตลอดชีวิต
เรื่องการจัดการเรียนรู้ในสังคมจะกระจ่างขึ้นเมื่ออ่าน พ.ร.บ.การศึกษาของญี่ปุ่น ที่ใช้เมื่อ พ.ศ.2549 (ปรับปรุงจาก พ.ศ.2490) หมวดแรกว่าด้วยจุดมุ่งหมายและหลักการเขียนว่า "การศึกษาต้องมุ่งพัฒนาบุคลิกภาพเต็มที่ บ่มเพาะให้พลเมืองสุขภาพดีทั้งจิตใจและร่างกาย เปี่ยมด้วยคุณสมบัติจำเป็นต่อการสร้างรัฐและสังคมที่สงบสุขและเป็นประชาธิปไตย" และในมาตรา 3 "จะต้องสร้างสังคมให้เอื้อต่อการที่ประชาชนจะเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตทุกโอกาส ทุกสถานที่ และสามารถประยุกต์ใช้ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ตลอดชีวิตนี้เพื่อความงอกงามส่วนบุคคลและเพื่อการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์"แล้วจึงเขียนหลักการพื้นฐานของการจัดการศึกษาครอบคลุมทั้งชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ปฐมวัย โรงเรียน (School Education) ครอบครัว (Education in the Family) มหาวิทยาลัย การศึกษาในสังคมนอกโรงเรียน (Social Education) การจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับการเมือง Political Education และศาสนา (Religious Education) แล้วเขียนเรื่อง Social education ในมาตรา 12 ว่า
"(1) รัฐบาลกลางและท้องถิ่นต้องส่งเสริมสังคมการเรียนรู้ที่สนองต่อบุคคลและชุมชนในภาพรวม
(2)รัฐบาลกลางและท้องถิ่นต้องพยายามส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในสังคมด้วยการจัดตั้งห้องสมุดพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา เปิดให้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของโรงเรียน เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ และได้มีข้อมูลที่เพียงพอ"
กฎหมายแม่บทการศึกษาของเกาหลี เขียนทำนองเดียวกันในหมวดว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษา นอกจากเรื่องปฐมวัยและการอาชีวศึกษาแล้ว ก็มีมาตราว่าด้วยการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง จริยธรรมด้านการเรียนรู้ สุขภาวะทางเพศ การศึกษาสำหรับผู้พิการ ผู้มีความสามารถพิเศษ การส่งเสริมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม พลศึกษาที่โรงเรียน เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
มาตรา 10 ว่าด้วยการจัดการศึกษาในสังคมนอกโรงเรียนกำหนด "ให้ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในสังคมทุกรูปแบบเพื่อการศึกษาตลอดชีวิต" และรับรองว่าการสำเร็จจากการศึกษาในรูปแบบนี้เท่าเทียมกับการจบการศึกษาจากโรงเรียน กฎหมายมาตรานี้ไม่ได้อยู่แค่บนกระดาษ หากเกิดผลเป็นรูปธรรมงดงามทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รัฐบาลกลาง ท้องถิ่น และภาคเอกชน สร้างและบริหารแหล่งเรียนรู้ให้มีชีวิตตลอดเวลา โรงเรียนเกาหลีให้ครูพาเด็กไปค้นหาความรู้ตามวัด พิพิธภัณฑ์ พร้อมใบงานเดือนละ 2 ครั้ง เขาถือว่าประเทศเจริญได้เพราะเรียนรู้ประสบการณ์จากประวัติศาสตร์ อดีตทำให้รู้ว่าในอนาคตต้องทำอะไรบ้าง เกาหลีใต้จึงมีพิพิธภัณฑ์มารยาทด้วยให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องชุดประจำชาติ มารยาทการรับประทานอาหาร การปฏิบัติตนต่อผู้ใหญ่ ฯลฯ
เมื่อดู พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 และ พ.ศ.2553 เขียนเรื่องเดียวกันไว้ในหมวด มาตรา 25 ว่า "รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬาและนันทนาการ แหล่งข้อมูล และแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ" ก็อยู่ที่สังคมจะตัดสินว่ารัฐได้ดำเนินการตามนี้หรือไม่ อย่างไร
ในเกาหลีใต้ รัฐบาลกลางและท้องถิ่นเปิดห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ใหญ่เล็กทุกปี เร็วๆ นี้รัฐบาลประกาศว่าจะเปิดห้องสมุดเพิ่มปีละ 50 แห่ง จนมี 1,100 แห่งใน พ.ศ.2561 เมื่อปี 2557 ก็เปิดห้องสมุดแห่งชาติสาขาที่ 2 ราว 21,000 ตร.ม. รูปทรงหนังสือโบราณ ที่เมืองเซจง ซึ่งเป็นศูนย์ราชการให้ข้าราชการค้นคว้าประกอบการเขียนแผนงาน และแบ่งพื้นที่เป็นห้องสมุดประชาชนด้วย
ปีเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นดงแดมุนในกรุงโซลเปิด Dongdaemun Design Lab ศูนย์เรียนรู้ด้านการออกแบบแฟชั่น มีพื้นที่สำหรับนิทรรศการและศูนย์ประชุมขนาดยักษ์ 85,000 ตร.ม. ซึ่งออกแบบโดยจ้างซาฮา ฮาดิด สถาปนิกระดับโลก
กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว รับผิดชอบภารกิจสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ในสังคม เป็นการสร้าง "Creative Korea" เพื่อ "ความสุขของประชาชน และเพื่อเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของโลก" พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดล้วนมีผู้ใช้บริการคึกคัก พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลีและพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาแห่งชาติติดอันดับ 20 แห่งที่นักท่องเที่ยวเข้าชมมากที่สุดในโลกมาหลายปีแล้ว
โลกเห็นความโดดเด่นของเกาหลีใต้ที่ผลPISA คะแนนอยู่ระดับเลขตัวเดียวครองแถวหน้าของโลกอย่างต่อเนื่องทุกด้านตั้งแต่ปีแรกเมื่อ ค.ศ.2003 จนปีล่าสุดเมื่อ ค.ศ.2012 วัดผล PISA ครั้งแรก เกาหลีใต้ประเดิมเป็นที่ 3 ด้านเลข ที่ 4 ด้านวิทยาศาสตร์ ที่ 2 ด้านการอ่าน และที่ 1 ด้านการแก้ปัญหา ปี ค.ศ. 2006 เป็นที่ 1 ด้านการอ่าน หากวัดค่าเฉลี่ยและงบประมาณด้านการศึกษาแล้ว โออีซีดีกล่าวว่าเกาหลีใต้มาอันดับหนึ่ง และเด็กเกาหลีมีความสามารถเป็นเลิศด้านการคิดวิเคราะห์และประเมินข้อมูลจากสิ่งที่อ่าน อีกทั้งสามารถอ่านได้อย่างต่อเนื่อง
ความสามารถด้านการอ่านของเด็กเกาหลีใต้ไม่ได้เกิดในวันเดียวตั้งแต่ผู้นำจนถึงพ่อแม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่านมานานร่วมยี่สิบปีแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้เห็นความจำเป็นของการสร้างระบบที่เสมือนเป็นโครงข่ายถนนแห่งปัญญาของประเทศเพื่อนำความรู้ไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงแนบแน่นไปกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ แผนแม่บทส่งเสริมระบบห้องสมุดและการอ่านของประเทศขับเคลื่อนอย่างจริงจังเป็นระบบทุกองคาพยพตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 โดยมีเป้าหมายให้ห้องสมุดนำพาสติปัญญาแก่ประชาชนทุกวัย โดยเพิ่มและปรับปรุงห้องสมุดเชิงปริมาณและคุณภาพทั้งห้องสมุดประชาชนและห้องสมุดโรงเรียน
เป็นการบูรณาการการทำงานที่ประสานระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่นระหว่างกระทรวงศึกษาธิการฯและกระทรวงวัฒนธรรมฯ ภาคประชาสังคมทั้งอาสาสมัตรและเอกชน จนวันนี้การอ่านแทรกเข้าไปอยู่ในทุกอณูของสังคม
การกำหนดให้ประเทศเป็นผู้นำโลกด้านไอทีสะท้อนชัดว่าเกาหลีใต้มองแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้สอดรับกับทั้งแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ จึงเป็นประเทศแรกที่เดินสายอินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ออพติกไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาหนังสือเรียนดิจิตอลให้โรงเรียนได้ใช้ฟรี การลงทุนสร้างห้องสมุดดิจิตอลแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2543 และเปิดบริการอีก 8 ปีต่อมา ได้สร้างงานด้านไอทีให้หนุ่มสาวจำนวนมากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
ถนนแห่งปัญญาไม่ได้ว่างเปล่าเลยในเกาหลีใต้
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 23 ธันวาคม 2558