ยังไม่พับโครงการ "ออมสิน" รีไฟแนนซ์หนี้ครู แม้ยังไม่เสนอ ครม. "ดาว์พงษ์" เผยถาม "สมคิด" แล้ว ระบุรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจไม่ได้คัดค้านแผน แถมยังเป็นคนเสนอไอเดียเอง คาดหลังปีใหม่ได้แนวทางแก้ทั้งระบบ
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ไม่ได้พิจารณากรณีที่ธนาคารออมสินจะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูโดยให้ใช้เงินอนาคต เช่น การใช้เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ใช้ในการค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งญาติจะได้รับหลังจากสมาชิกเสียชีวิต มาตั้งเป็นวงเงินกู้ในการรีไฟแนนซ์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ค้างชำระกับทางธนาคารออมสินส่วนหนึ่งก่อน เข้าใจว่าทางธนาคารออมสินจะไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้รอบคอบก่อนจะเสนอ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหนี้สินครูยังไม่จบแน่นอน ต้องทำให้รอบด้าน โดยจะต้องหารือกับหน่วยงานที่ปล่อยกู้ให้ครบถ้วน ทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และเจ้าหนี้รายอื่นๆ ด้วย เพื่อจะได้ดำเนินการให้ครบทั้งระบบ ส่วนที่จะพิจารณาดำเนินการรีไฟแนนซ์ตามข้อเสนอของธนาคารออมสินก่อนนั้นถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะมีครูจะถูกฟ้องร้อง
รมว.ศธ.กล่าวว่า คาดว่าหลังจากปีใหม่ หรือปี 2559 จะได้แนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ เพราะต้องหารือกับเจ้าหนี้รายอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียว ส่วนที่ครูส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของธนาคารออมสินที่ให้รีไฟแนนซ์นั้น ก็อยากให้ครูพูดมาให้ชัดว่าจะให้ช่วยอย่างไร ซึ่งถ้าจะให้พักชำระหนี้คงเป็นไปไม่ได้ หรือจะให้ลดดอกเบี้ยก็ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานที่เป็นเจ้าหนี้เอง ตนตอบไม่ได้ ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวนั้น ตนก็ได้สอบถามนายสมคิดโดยตรง ซึ่งได้รับคำตอบว่าไม่เป็นความจริง และส่วนหนึ่งของแนวทางนี้ นายสมคิดก็เป็นผู้เสนอเอง
ด้าน นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ตนอยากให้ครูที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของธนาคารออมสิน หรือมีปัญหาอื่นๆ เข้ามาหารือกับ ศธ.โดยตรง ส่วนตนคิดว่าเรื่องนี้สามารถแก้ปัญหาให้ครูที่เป็นหนี้กับธนาคารออมสินได้ส่วนหนึ่ง และไม่อยากให้คิดมากว่าการที่ธนาคารออมสินเปิดให้ครูเข้ามารีไฟแนนซ์เป็นการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ หรือ NPL ซึ่งเป็นปัญหาของทางธนาคารเองมากกว่าจะช่วยครู โดยอยากให้มองว่าตัวครูเองก็ได้รับการแก้ปัญหาหนี้สินให้เบาลงเช่นกัน.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 23 ธันวาคม 2558