นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ได้มอบให้ สศศ. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานหลักดูแลจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ เพื่อให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเสมอภาค ซึ่ง สศศ.ได้จัดให้มีศูนย์การศึกษาพิเศษในระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อดูแลเด็กพิการเป็นการเฉพาะแล้ว แต่ก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ยังมีเด็กพิการที่เข้าไม่ถึงการศึกษาอีกมาก โดยเฉพาะในระดับตำบลและหมู่บ้าน ดังนั้นในปี 2559 สพฐ.จะประกาศเป็นปีแห่งความร่วมมือในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้ทั่วถึง
ผอ.สศศ.กล่าวต่อไปว่า การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จะประสบผลสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายส่วน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยมีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบรอง เพื่อร่วมกันจัดให้บริการตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ช่วยเหลือบำบัด ฟื้นฟู และเตรียมความพร้อมในการส่งต่อเด็กเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์การศึกษาพิเศษ และโรงเรียนเฉพาะความพิการ
"การดำเนินการเรื่องนี้ หัวใจสำคัญ คือ ครูผู้สอน ครูพี่เลี้ยง ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในการดูแลเด็กพิการประเภทต่างๆ ซึ่ง สศศ.จะเสนอร่างกำหนดสายงานนักสหวิชาชีพ สังกัด สศศ. ให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา เพื่อให้มีนักสหวิชาชีพมาให้บริการอย่างครบถ้วนตามความต้องการจำเป็นของเด็กแต่ละคน เช่น นักจิตวิทยาคลินิก นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด เป็นต้น" นายอำนาจกล่าวและว่า ศธ.จำเป็นต้องมีบุคลากรเหล่านี้มาทำหน้าที่ให้บริการในระบบการศึกษา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 38 หมวด 3 โดยนักสหวิชาชีพอาจอยู่ในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น หรือ ครูสายสนับสนุนการสอน ซึ่งเชื่อว่าหากเราดูแลนักสหวิชาชีพนี้ให้มีความก้าวหน้าได้ จะส่งผลให้เด็กพิการได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเช่นกัน.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 ธ.ค. 2558 (กรอบบ่าย)