เกาะติดการปิดเปิดเทอม มหาวิทยาลัยไทยตามอาเซียน
โดย สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
(ที่มา:มติชนรายวัน 21 ธ.ค.2558)
การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน (Asean Community) ที่เคยคึกคักตลอดช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ตอนนี้ดูเหมือนว่ากำลังเฉื่อยๆ ลงไป ทั้งๆ ที่ถึงกำหนดเวลาเริ่มต้นรวมกันอย่างเป็นทางการแล้ว หลังเลื่อนเวลาจากต้นปีมาเป็นปลายปี และบัดนี้กำลังจะสิ้นปีแล้ว แต่กลับไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวอะไรที่น่าตื่นเต้น ซ้ำดูเงียบเชียบอยู่เหมือนไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นเลย
แต่สำหรับบางเรื่องที่เคยเร่งรีบลุกลนดำเนินการกันจนเกิดความเสียหายมากมายคือ การเลื่อนเวลาการปิด-เปิดเทอมมหาวิทยาลัยไทยตามอาเซียน ดังบทความเรื่อง ความเสียหายจากการปิด-เปิดเทอมมหาวิทยาลัยไทยตามอาเซียน ที่ได้เผยแพร่ไปแล้วนั้น (มติชน ฉบับวันที่ 10 พ.ย.2558) จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ดี บทความนี้จะขอชี้ลงไปที่ความเสียหายของผู้เรียนที่หลายๆ ท่าน หลายๆ ฝ่ายยังอาจไม่ตระหนักดังนี้
ด้านคุณภาพการเรียนการสอนนั้น หลายท่านมองเพียงเรื่องอากาศร้อนและวันหยุดที่มีมากในเดือนเมษายนเท่านั้นที่จะมีผลทำให้คุณภาพการเรียนการสอนลดลง แต่ที่จริงแล้วยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็นรายภาคการศึกษาได้ดังนี้
กรณีภาคการศึกษาแรก จากที่เคยเปิดเทอมในเดือนมิถุนายนและไปปิดเทอมย่อยในเดือนตุลาคม ซึ่งดูเหมือนไม่น่ามีปัญหาอะไรที่จะทำให้คุณภาพการเรียนการสอนลดลง แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีโอกาสสูงที่สุดที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้าถึงประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ฝนตกหนักและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วม (ดูสถิติได้จากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทาน) แต่แทนที่มหาวิทยาลัยจะหยุดเรียนเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวเหมือนที่เป็นมาในอดีต มหาวิทยาลัยกลับเข้ามาแบกรับความเสี่ยงนี้เสียเอง
นอกจากนี้ เดือนตุลาคมยังเป็นเดือนที่ทางกรมการรักษาดินแดนจะเรียกนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) เข้ารับการฝึกทบทวนภาคสนามเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หากนักศึกษาคนไหนถูกเรียกก็จะต้องขาดเรียนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งนั่นหมายความว่านักศึกษาคนนั้นจะมีเวลาเรียนในเทอมนี้ไม่ถึงร้อยละ 80 ตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งโดยปกติต้องได้เกรด F แม้มีความพยายามจะขอให้ทางกรมการรักษาดินแดนเลื่อนเวลาให้ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ เพราะการฝึก รด.ไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ยังคงปิดเทอมในเดือนตุลาคมตามปกติ จึงไม่มีเหตุผลอันควรที่จะแก้ปัญหาให้คนส่วนน้อยแล้วไปกระทบกับคนส่วนใหญ่ อันเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะกระทำเช่นนั้น
กรณีของภาคการศึกษาที่สอง จากที่เคยเปิดเทอมในเดือนพฤศจิกายนและมาปิดเทอมใหญ่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนนั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าเดือนที่ร้อนที่สุดของประเทศไทยคือเดือนเมษายนและพฤษภาคม การที่นักศึกษาต้องเรียนท่ามกลางอากาศร้อนจัดนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดประสิทธิภาพเต็มที่ โดยมากจะขาดสมาธิและหลับไปด้วยความอ่อนเพลียจากการเสียเหงื่อ แม้จะมีห้องปรับอากาศให้เรียนก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะก่อนเข้าห้องเรียนและหลังจากเลิกเรียน นักศึกษายังต้องเผชิญกับอากาศร้อนจัดอยู่ดี ซึ่งเป็นเหตุให้ป่วยไข้ได้ง่ายอีกด้วย
อากาศร้อนจัดยังทำให้การเรียนภาคสนามไม่อาจทำได้อย่างเต็มที่ จำเป็นต้องลดกิจกรรมการเรียนการสอนภาคสนามลง เพราะแม้แต่การไถไร่ไถนาด้วยวัวควาย ซึ่งได้ชื่อว่ามีความอดทนสูง ชาวไร่ชาวนายังไม่ทำกัน เพราะช่วงนี้ชาวไร่ชาวนาจะเว้นการไถคราด หรือจะทำก็ทำเฉพาะในช่วงเช้าตรู่ก่อนที่จะมีแดดจัด แต่นักศึกษาต่อให้อดทนเข้มแข็งเพียงใดก็ยากจะสู้ไหว คุณภาพการเรียนการสอนจึงลดลงอย่างไม่ต้องสงสัย
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดพายุฤดูร้อน แทนที่มหาวิทยาลัยจะปิดเทอมเพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ได้พักร้อนเหมือนแต่ก่อน อันเป็นการลดความเสี่ยงดังกล่าว แต่มหาวิทยาลัยก็เอาความเสี่ยงเหล่านั้นมาโยนให้นักศึกษาและอาจารย์แบกรับโดยไม่จำเป็น
จะเห็นได้ว่าฤดูร้อนไม่มีบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้แต่อย่างใด แต่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ทั้งทางด้านกายภาพและพฤติกรรมโดยแท้จริง
ความต่อเนื่องในการเรียนของภาคการศึกษานี้ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนลดลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะเดือนเมษายนมีช่วงวันหยุดยาว (4-5 วัน) ในเทศกาลสงกรานต์ การเรียนการสอนในช่วงนี้จึงขาดความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการขาดความต่อเนื่องมีผลเสียต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนอย่างมาก อีกทั้งเดือนนี้ยังมีวันหยุดมากทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น วันจักรี วันเช็งเม้ง และวันเกณฑ์ทหาร เมื่อหักวันหยุดเสาร์และอาทิตย์อีก 8-10 วัน จะเหลือวันที่มีการเรียนการสอนจริงๆ ไม่ถึงครึ่งเดือน สภาพเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่การเรียนการสอนจะมีคุณภาพ
นอกจากนั้น การปิด-เปิดเทอมตามอาเซียนที่ว่านี้ทำให้นักศึกษาปีทุกคนที่ต้องจบการศึกษา จะจบการศึกษาช้าไปอีก 2 เดือน นับเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของครัวเรือนและประเทศชาติ เพราะทำให้ประชากรวัยแรงงานของชาติเข้าสู่ภาคแรงงานช้าลงไปอีก 2 เดือนด้วย และยังทำให้นักศึกษาปีสุดท้ายมีปัญหาในการสมัครงานภาคเอกชนด้วยเพราะนักศึกษาไม่ได้ผ่านการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากฤดูเกณฑ์ทหารอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งยังไม่ปิดภาคการศึกษา และนักศึกษาจะต้องเสียเวลารอไปเกณฑ์ทหารในปีถัดไป แต่ถ้านักศึกษาเสี่ยงไปเข้ารับการตรวจเลือกทหารก่อนจบการศึกษา
ปะเหมาะเคราะห์ร้ายก็อาจเรียนไม่จบตามกำหนดได้ เพราะอาจโชคร้ายติดเกณฑ์ไปเข้ารับราชการทหารเสียก่อน
เรื่องการปิด-เปิดเทอมมหาวิทยาลัยไทยตามอาเซียนนี้ นับเป็นกรณีตัวอย่างของการกำหนดนโยบายทางการศึกษาที่ผิดพลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และยอมรับกันได้ แต่เมื่อพิสูจน์ด้วยเหตุด้วยผลชัดเจนแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ควรยอมรับและหาทางแก้ไข แต่ขณะนี้กลับไม่มีใครฝ่ายไหนยอมรับว่าเป็นต้นคิดเป็นฝ่ายผลักดัน แต่กลับปล่อยให้แก้ไขกันเองแบบตัวใครตัวมันเหมือนไม่มีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จะรุนแรงและเรื้อรังจนไม่มีทางแก้ไขได้ในอนาคตเหมือนหลายๆ เรื่องที่เป็นปัญหาในวงการศึกษาไทยขณะนี้
เรื่องนี้เป็นปัญหาของอุดมศึกษา อย่างน้อยคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ต้องเข้ามาดูแลแก้ไข อย่าให้ใครพูดได้ว่ามหาวิทยาลัยไม่ต้องมี กกอ.ก็อยู่ได้
สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้