“ดาว์พงษ์” เผยแนวคิดเรียนซ้ำชั้น ย้ำชัด ๆ เด็กสอบตกให้โอกาสสอบซ่อมก่อน ถ้าไม่ไหวค่อยซ้ำชั้นในปีสุดท้ายของแต่ละช่วงชั้น พร้อมเร่งปรับมาตรฐานการสอบซ่อมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
วันนี้ (21ธ.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียของการเรียนซ้ำชั้น ว่า เรื่องนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงต้องฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือนักจิตวิทยาว่า หากจะดำเนินการจริง ๆ จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง มีผลดี ผลเสียอย่างไร ซึ่งต้องรอฟังผลการวิเคราะห์ก่อน แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางที่ตนคิดไว้ ไม่ใช่เมื่อเด็กสอบตกแล้วต้องเรียนการซ้ำทุกชั้นปี แต่จะให้เรียนซ้ำชั้นเป็นช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 1 ชั้น ป. 3 ช่วงชั้นที่ 2 ป.6 และช่วงชั้นที่ 3 ม.3 โดยก่อนจะให้ซ้ำชั้นก็จะให้เด็กมีโอกาสได้ซ่อมก่อน ขณะเดียวกันตนจะให้มีการปรับปรุงมาตรฐานการสอบซ่อมด้วยจากเดิมที่มาตรฐานของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับผู้บริหาร บางโรงเรียนอาจจะละเลย หรือ หละหลวมไม่ได้เข้มงวดในเนื้อหาวิชา ปล่อยให้ผ่านง่าย ๆ ที่ได้ยินมาอาจจะแค่ทำรายงานส่ง หรือทำงานให้ครูแล้วให้ผ่าน ซึ่งเป็นเรื่องจริงหรือไม่ตนไม่ทราบดังนั้นก็ต้องหาวิธีการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกโรงเรียนและเด็กที่สอบซ่อมผ่านก็ต้องมีความรู้จริงถ้าเขียนหนังสือไม่ได้ก็ต้องให้เขียนจนผ่าน
“เชื่อว่าครูทุกคนพร้อมที่จะปรับ โดยแนวทางที่ผมตั้งใจไม่ใช่เมื่อเด็กสอบตกแล้วต้องเรียนซ้ำชั้นในทันที แต่จะให้โอกาสเด็กสอบซ่อมในรายวิชาที่ตก โดยการสอบซ่อมทุกครั้งต้องเป็นแบบเข้มข้นและมีมาตรฐาน แล้วมาดูผลการเรียนอีกครั้งในปีสุดท้ายของช่วงชั้นเช่น ช่วงชั้นที่ 1 เด็กป.1 ถ้าสอบไม่ผ่านวิชาไหนก็ให้สอบซ่อมในวิชานั้น ป.2 ก็เช่นกัน ส่วน ป.3 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของช่วงชั้น ถ้าสอบตกอีกก็ให้โอกาสซ่อมอีก แต่ถ้ายังไม่ผ่านก็ต้องเรียนซ้ำชั้น ป.3 โดยจะใช้แนวทางเดียวกันทุกช่วงชั้นเพราะฉะนั้นโรงเรียนจะต้องดูแลเด็กและพัฒนาการเรียนการสอนในแต่ละชั้นปีให้มีมาตรฐาน เนื่องจาก 2 ปีแรกของช่วงชั้นจะให้โอกาสโรงเรียนดูแลตัวเองแต่พอถึง ป.3 ป.6 และ ม.3 กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)จะลงไปกำกับอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้ผลิตเด็กที่มีคุณภาพจริง ๆ ” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวและว่า แนวทางดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อสรุป แต่เชื่อว่าจะทำให้ครูและเด็กกระตือรือร้น รวมถึงผู้ปกครองจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนของลูกมากขึ้น.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 ธันวาคม 2558