ทปอ. มีมติเอกฉันท์ แต่งตั้ง 'หมออุดม' อธิการฯ มศว นั่งประธานคนใหม่ พร้อมถกแนวทางช่วยนักศึกษากู้ กยศ. ที่ได้รับเงินล่าช้า ขณะไม่นอนใจ ยัน ไม่กลับมาเปิด-ปิดเทอมตามเดิม ตั้งเป้าสถาบันแลกเปลี่ยนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 58 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวภายหลังการประชุมสามัญ ทปอ.ครั้งที่ 6/2558 ว่า ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ แต่งตั้ง ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธาน ทปอ.คนใหม่ ต่อจาก ศ.ดร.ประสาท ที่จะหมดวาระในวันที่ 31 ธ.ค. นี้
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้พิจารณาถึงแนวทางในการช่วยเหลือนักศึกษาผู้กู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ประสบปัญหาได้รับเงินล่าช้า เนื่องจากกลไกการอนุมัติเงินกองทุน กยศ. มีหลายขั้นตอน เช่น ให้ธนาคารกรุงไทยจัดทำข้อผูกมัด เพื่อให้ผู้กู้ต้องมาคืนเงินในภายหลัง หรือกระแสการใช้บัตรประชาชน เป็นต้น ดังนั้นทาง ทปอ. มีมติร่วมกัน จะทำหนังสือไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อประสานไปยังธนาคารกรุงไทย ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ อาทิ การตรวจสอบเอกสารที่อาจลดขั้นตอน ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่การอนุมัติเงินต่อการดำรงชีพ หรือการใช้ชีวิตของเด็กนักศึกษา ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดถึงขั้นตอนการอนุมัติเงินกู้ กยศ. และไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่นักศึกษา
ประธาน ทปอ. กล่าวอีกว่า ขณะที่ ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร ได้ขอเลื่อนผลวิจัย วิเคราะห์โครงสร้างของข้อสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) ออกไปก่อนอีก 2-3 เดือน ซึ่งตามกำหนดเดิม ที่จะต้องส่ง ทปอ. ภายในปี 2558 เนื่องจากต้องการพิจารณาผลการวิจัยให้รอบคอบก่อน ส่งข้อมูลมายัง ทปอ. เนื่องจากผลการพิจารณาตามผลวิจัย อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในการสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือแอดมิชชั่นได้ เพราะจะต้องแจ้งให้นักศึกษาทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี
สำหรับกรณีที่ประชุมสภาอาจารย์แห่งประเทศไทย (ปอมท.) เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อขอให้มหาวิทยาลัยกลับมาเปิดและปิดภาคเรียนตามเดิม จากที่ได้เลื่อนตามประชาคมอาเซียน ซึ่งในเรื่องนี้ ทาง ทปอ. ไม่ได้นิ่งนอนใจถึงข้อทักท้วง โดยที่ผ่านมามีการตั้งคณะทำงานกำหนดทีโออาร์ มีลักษณะเป็นการวิจัยศึกษาเปรียบเทียบ ในเรื่องการปรับปฏิทินการเปิดภาคเรียนแล้ว ซึ่งก็พบว่ามีผลดีมากกว่าผลเสีย และต้องการทำตามสากล เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งเป้าไปที่ประโยชน์ของนักศึกษาและประเทศชาติ.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 20 ธันวาคม 2558