คัดเด็กเก่งแถมกู้ กยศ.100% ดึงงบฯ จ้างครูเกษียณสอนสาขาขาดแคลน
จากการประชุมวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประจำปี 2558 เรื่องความร่วมมือของอุดมศึกษาไทยในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความร่วมมือของอุดมศึกษาไทยในการแก้ไขปัญหาประเทศ” ตอนหนึ่งว่า ปัญหาการอุดมศึกษาพบว่า มีการผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับความต้องการของประเทศทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยขาดแคลนและล้นในบางสาขา งบประมาณพัฒนามหาวิทยาลัยมีจำกัด ปัญหาคุณภาพนักเรียนที่จะเข้าเรียนต่ออุดมศึกษารวมถึงบัณฑิตยังไม่มีคุณภาพ ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับต่ำ การจัดการศึกษาเชิงพาณิชย์ยังคงมี การวิจัยไม่มีคุณภาพและไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัวตนเห็นว่าควรนำงบฯวิจัยที่กระจายอยู่ตามกระทรวง กรม ต่างๆ มารวมไว้ที่เดียวกัน และจัดสรรให้มหาวิทยาลัยร่วมมือกับภาคเอกชนทำการวิจัย โดยแบ่งกลุ่มทำงานวิจัยอย่างเป็นระบบ
“ขณะนี้ประเทศมีปัญหาครูขาดแคลน ผมกำลังเร่งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เสนอโครงการคุรุทายาท ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่ว่า โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เนื่องจากชื่อเดิมหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นโครงการลูกครู โดยจะคัดเด็กเก่งเข้าโครงการ มีอัตราบรรจุในภูมิลำเนา และสามารถกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ได้ 100% ซึ่งผมจะหารือกับ รมว.คลังให้ตั้งงบฯ เพิ่มให้กับ กยศ.ซึ่งรับรองได้ว่าเงินจะไม่สูญ เพราะเมื่อจบแล้วจะให้หักเงินคืน กยศ.ก่อน ขณะเดียวกันก็จะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกลี่ยงบฯปี 2560 เพื่อจ้างครูเกษียณให้สอนในสาขาขาดแคลนในพื้นที่ที่ขาดแคลนครู จำนวน 1 หมื่นอัตรา โดยจะเริ่มจ้างได้เทอม 2 ปีการศึกษา 2559” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
รมว.ศึกษาธิการกล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาด้านภาษาอังกฤษของเด็กไทยนั้น เร็วๆ นี้กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศนโยบายให้บัณฑิตระดับปริญญาตรีทุกคนต้องเข้ารับการทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารหรือภาษาต่างประเทศภาษาที่สอง เช่น ภาษามาเลเซีย พม่า กัมพูชา ก่อนจบการศึกษา และนำผลการทดสอบไว้ในใบรับรองผลการศึกษา หรือ ทรานสคริป แต่จะไม่มีผลกับเกรดหรือการจบการศึกษา ซึ่งจะเริ่มปีการศึกษา 2559 เริ่มตั้งแต่นิสิตนักศึกษาปี 1 เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัว และสาเหตุที่เลือกระดับอุดมศึกษา เนื่องจากนิสิตนักศึกษามีวุฒิภาวะ และถือเป็นรุ่นพี่ที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับรุ่นน้องระดับประถมและมัธยมศึกษา.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 19 ธันวาคม 2558