นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ปรับหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการใช้หนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอดเพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน สำหรับผู้รับบำนาญที่ยื่นกู้เงินกับสถาบันการเงิน และขอกู้เงินไม่เต็มจำนวนในหนังสือรับรอง หากต้องการที่จะกู้เงินเพิ่ม ก็สามารถกู้เงินกับสถาบันการเงินเดิมได้ โดยใช้หนังสือรับรองฉบับเดิม แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยจำนวนเงินที่กู้เดิมกับจำนวนเงินที่กู้เพิ่ม รวมกันแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุในหนังสือรับรองสำหรับผู้รับบำนาญที่ยื่นกู้เงินกับสถาบันการเงินเต็มจำนวนในหนังสือรับรอง และได้ชำระเงินคืนบางส่วน หากต้องการกู้เงินเพิ่มในส่วนที่ได้ชำระไปแล้ว ก็สามารถกู้เงินเพิ่มกับสถาบันการเงินเดิมได้เช่นกัน โดยใช้หนังสือรับรองฉบับเดิม ซึ่งจำนวนเงินที่กู้เดิมกับจำนวนเงินที่กู้เพิ่ม เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุในหนังสือรับรอง และเป็นไปตามเกณฑ์การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่ท่านได้ยื่นกู้ไว้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป
ในกรณีที่ผู้รับบำนาญได้รับบำนาญเพิ่มจากการกลับไปรับบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หากต้องการจะขอรับบำเหน็จดำรงชีพ ก็สามารถยื่นแบบขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ที่ส่วนราชการต้นสังกัดและหากต้องการจะกู้เงินในส่วนที่ได้รับสิทธิในบำเหน็จตกทอดเพิ่ม ก็ให้ขอหนังสือรับรองเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นได้ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป ทั้งนี้ถ้าผู้รับบำนาญได้ขอรับหนังสือรับรองเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นแล้วจะไม่มีสิทธิยื่นขอบำเหน็จดำรงชีพในส่วนที่ได้รับบำนาญเพิ่มได้อีก ตัวอย่างเช่น นาย ก ออกราชการตอนอายุ 60 ปี ได้รับบำนาญเดือนละ 20,000 บาท จะมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด จำนวน 30 เท่าของบำนาญรายเดือน คิดเป็นเงิน 600,000 บาท และมีได้รับสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพ จำนวน 15 เท่าของบำนาญรายเดือน เป็นเงิน 300,000 บาท ซึ่งนาย ก ขอรับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้ว 200,000 บาท เมื่ออายุ 60 ปี คงเหลืออีก 400,000 บาท ที่สามารถขอหนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอดเพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน
ที่มา หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 19 ธันวาคม 2558