นักวิชาการชี้ก่อนสั่งลดเวลาเรียน ต้องจัดโครงสร้าง-หลักสูตรการสอนให้สอดคล้อง ระบุกิจกรรมต้องสอดคล้องกับการสอนในห้องเรียน ขอเสรีภาพให้โรงเรียนออกแบบจัดสรรเวลาด้วยตัวเอง
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”การศึกษาไทยมาถูกทางแล้วหรือยัง? ณ ห้องประชุมพระมิ่งขวัญ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเรื่องลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ว่า แค่การตั้งชื่อ ก็เรียกว่า เริ่มกระบวนการผิดการเรียนมีแต่ต้องยิ่งเพิ่มเวลา ความจริงคือการลดการเรียนและเพิ่มเวลาการเรียนรู้ ตั้งแต่ได้ยินนโยบายลดการเรียนเพิ่มเวลารู้ได้ติดตามกระบวนมาโดยตลอด เพราะค่อนข้างเป็นห่วง การจะลดเวลาในห้องเรียน และหวังจะเพิ่มการเรียนรู้นั้นหากมองแนวคิดถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมาไทยแทบจะเป็นประเทศที่ใช้เวลาในห้องเรียนมากที่สุดในโลก แต่การเรียนมากก็ไม่ได้ส่งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
ดร.ภาวิช กล่าวอีกว่า การกำหนดให้อยู่ ๆ มีการลดเวลาเรียนนั้น ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ดัชนีตัวชี้วัดที่จะนำมาใช้เป็นอย่างไร ต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่ หรือการจัดโครงสร้างองค์ความรู้หลักสูตรที่มีความชัดเจน และให้แต่ละโรงเรียนไปบริหารจัดการลดเวลาเรียนเอง และผู้บริหารต้องเข้าใจว่า การลดเวลาในห้องเรียนไม่ได้หมายถึงการลดการเรียนรู้ แต่นโยบายดังกล่าวคือการใช้กระบวนการอื่นเข้ามาแทนที่เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนเข้ามาแทน หรือที่เรียกว่า กิจกรรมประกอบการเรียน อย่างไรก็ตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ใช่การคิดแบบคนละชิ้น แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่ถูกออกแบบประกอบการเรียนที่สามารถถร้อยเรียงเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน
“จะลดเวลาในห้องเรียนก็ต้องลดอย่างเป็นระบบ จำเป็นต้องมีการรื้อหลักสูตรใหม่ เพื่อทำให้การลดเวลาในห้องเรียนเป็นไปอย่างมีหลักเกณฑ์ เพราะหลักสูตรที่ใช้กันในปัจจุบันคือหลักสูตรที่ล้มเหลวมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นต้องรื้อโครงสร้างหลักสูตรและออกแบบโครงสร้างเวลาให้สอดคล้องกัน รวมทั้งต้องปฏิรูปการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)”
Advertisement
ด้านดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ หากมองเจตนา คือ มีเจตนาที่ดี เพียงแต่ สพฐ. ต้องเข้าใจและอธิบายกระบวนการในการจัดการให้ได้
"วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือสพฐ.มีความเป็นนักวิชาการ แต่ไม่ได้ใช้การจัดการสอนที่ถูกต้อง รวมถึงกิจกรรมการพัฒนาทักษะผู้เรียน ดังนั้นในการเดินหน้านโยบายอย่างถูกต้อง สพฐ.เองจะต้องทำงานและสามารถอธิบายให้นักการเมืองเข้าใจเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่ถูกต้องภายใต้หลักวิชาการได้ ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็ออกประกาศออกมา หากจับหลักการไม่ดีก็ดำเนินนโยบายก็จะผิดเพี้ยน"ดร.เจือจันทร์ กล่าว และว่า นักวิชาการบ้านเรามักจะกลัวนักการเมือง ไม่กล้าบอกไม่กล้าพูด แม้นโยบายบางอย่างจะบอกให้เขาเปลี่ยนได้ยาก แต่อย่างน้อยเราต้องคำนึงถึงหลักการใหญ่ว่า อย่างไรก็ต้องอยู่ ที่สำคัญหากสพฐ.สามารถจัดกระบวนการเรียนการสอนและพัฒนาศักยภาพของครูได้ก็จะช่วยทำให้ระบบการศึกษาของไทยดีขึ้น
ดร.เจือจันทร์ กล่าวด้วยว่า ความสำคัญของการลดเวลาในห้องเรียนนั้น อย่างน้อยแต่ละโรงเรียนควรจะมีเสรีภาพในการจัดการเรียนการสอน แต่กำหนดให้เขาออกแบบภายใต้หลักเกณฑ์ที่มี อย่าไปจำกัดว่าแต่ละโรงเรียนจะต้องทำอย่างไร ใช้เวลาว่างชั่วโมงไหน ให้เขาทำหน้าที่บริหารจัดการออกแบบเอง เพราะมีหลายโรงเรียนที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้และค่อนข้างจะสัมฤทธิ์ผล
ที่มา สำนักข่าวอิศรา วันที่ 16 ธันวคม 2558