อดีตกรรมการคุรุสภา ชี้ ใช้เงินช.พ.ค.รีไฟแนนซ์หนี้ออมสิน ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด แค่ยืดลมหายใจแก้ปัญหาให้ธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียว
วันนี้ (15 ธ.ค.) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และธนาคารออมสินได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยให้ใช้เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.)ที่ญาติจะได้รับหลังจากสมาชิกเสียชีวิตส่วนหนึ่ง มาตั้งเป็นวงเงินกู้ในการรีไฟแนนซ์ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ธนาคารออมสิน นั้น
รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร อดีตกรรการคุรุสภา กล่าวว่า การรีไฟแนนซ์ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด เป็นเพียงการยืดเวลาให้ครูได้หายใจ มีเวลาผ่อนชำระมากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้หนี้สินครูลดลง ขณะเดียวกันแหล่งหนี้ก้อนใหญ่ของครูไม่ได้อยู่ที่ธนาคารออมสินเท่านั้น ยังมีแหล่งอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงอยากเสนอให้รัฐบาลหารือกับสถาบันการเงิน หรือแหล่งเงินกู้อื่น ๆ ของครู ขอให้ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้ครูมีความสามารถผ่อนชำระเงินต้นได้มากขึ้น แต่ทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน คือ การสร้างจิตสำนึกให้ครูมีวินัยทางการเงิน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เช่นอยากมีบ้าน มีรถ ซึ่งล้วนเป็นต้นตอของหนี้สินที่พอกพูน
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีต รมช.ศธ. กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวคงแก้ปัญหาได้ชั่วคราว สิ่งสำคัญคือ ต้องให้ความรู้ เพราะเรื่องหนี้สินครูเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ก็ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการบริหารจัดการทางการเงินให้ครู มีแต่ส่งเสริมให้มีหนี้มากขึ้น
แหล่งข่าวจาก ศธ.เปิดเผยว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เชื่อว่าหากเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) คงจะมีการถกเถียงกันอย่างหนัก เพราะเป็นการปัญหาให้ธนาคารออมสินเท่านั้น ขณะที่สถาบันการเงิน หรือแหล่งเงินกู้อื่น ๆ ของครู ต่างก็หวังให้ครูใช้เงิน ช.พ.ค.มาชำระหนี้เช่นกัน ส่วนบอร์ดบริหารกองทุน ช.พ.ค.ก็อาจจะไม่ยอม เพราะไม่ได้เป็นการช่วยเหลือครู แต่เป็นการแก้ปัญหาหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล ให้ธนาคารออมสินที่กำลังเป็นปัญหาอย่างหนัก เพราะมีหนี้เสียจำนวนมาก
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 ธันวาคม 2558