นอกจากนี้ก็มีเรื่อง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วก็น่าสนับสนุนเพราะเป็นหลักการหรือวิธีการ “สร้างคน” (ให้มีปัญญาของตนเอง) ตามหลักพุทธศาสนาที่เริ่มจาก ปริยัติ หรือการเรียนรู้
ระยะนี้ “คนกระทรวงศึกษาธิการ” ไม่ว่าจะเป็นคนที่ยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังมีความห่วงใยการศึกษาของชาติ ต่างก็ให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวของกระทรวงในสารพัดเรื่อง ที่สำคัญก็คือเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น การปฏิรูปโครงสร้าง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก เพราะกระทรวงก็เหมือนครอบครัวหรือบ้านที่ออกแบบโครงสร้างไว้นานแล้ว แต่ในบริบทของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์อย่างปัจจุบัน บ้านหลังนี้อาจจะกว้างหรือคับแคบเกินไป หรืออาจไม่มั่นคงแข็งแรง ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่มีความสุขหรือไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งขณะนี้เรื่องนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ยังไม่ทราบว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใด
นอกจากนี้ก็มีเรื่อง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วก็น่าสนับสนุนเพราะเป็นหลักการหรือวิธีการ “สร้างคน” (ให้มีปัญญาของตนเอง) ตามหลักพุทธศาสนาที่เริ่มจาก ปริยัติ หรือการเรียนรู้ ให้รู้และเข้าใจเสียก่อน แล้วจึงตามด้วยการนำความรู้และหลักการที่เรียนรู้แล้วมา ปฏิบัติ ถ้าการปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องและปฏิบัติอยู่เสมอก็จะเกิด ปฏิเวธ หรือผลของการปฏิบัติที่มีคุณค่าหรือคุณประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องของนักเรียน หลักการดังกล่าวจะได้ผลเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับการคัดสรรกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งก็มีอยู่แล้ว หรือสร้างกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ทันสมัยและน่าสนใจให้นักเรียนปฏิบัติหรือฝึกหัดด้วยตนเองให้มากขึ้น
นอกจากสองเรื่องนี้แล้ว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ครูหรือทางโรงเรียนให้ความสำคัญมาก นั่นก็คือเรื่อง อัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของโรงเรียน ถ้าจะพูดให้ชัดเจนก็คือ “อัตลักษณ์ของนักเรียน” ในโรงเรียนนั้น ๆ นั่นเอง ซึ่งเมื่อมองในภาพรวมแล้วจะเห็นว่าอัตลักษณ์หลักของแทบทุกโรงเรียนจะคล้ายกัน เพราะอัตลักษณ์ (Identity) นั้นเกิดจากวัตถุประสงค์ นโยบาย ซึ่งมาจากปรัชญาการศึกษา (Educational Philosophy) รวมทั้งมาจากปณิธาน(Goal) และวิสัยทัศน์ (Vision) ของหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารและจัดการ ซึ่งในเรื่องของการศึกษาหน่วยงานดังกล่าวก็คือกระทรวงศึกษาธิการ เพราะมีหน้าที่และภารกิจในการสร้างเด็กและเยาวชนให้เก่ง ดี มีคุณธรรมเพื่อเป็นทรัพยากรอันมีคุณค่าของประเทศชาติ แต่อัตลักษณ์ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละโรงเรียนอาจจะแตกต่างกันไปตามสภาวะแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณีนิยม ค่านิยม หรือความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ อัตลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม บางครั้งจึงต้องมีผู้รู้แจกแจงให้ชัดเจนว่าอะไรคือตัวบ่งชี้ ตัวชี้วัดหรืออัตลักษณ์ที่ทางโรงเรียนจะต้องถูกประเมินโดยหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ประเมินว่า โรงเรียนนั้น ๆ มีคุณภาพหรือประสิทธิภาพเพียงใด
จะโดยการที่เราสนใจเรื่องปฏิรูป เรื่องลดเวลาเรียนและเรื่องอัตลักษณ์ของนักเรียนมากไป หรืออาจจะเพราะเหตุใดก็ตาม จึงทำให้เราลืมนึกถึงเอกลักษณ์ที่น่าจะสำคัญที่สุดน้อยไปหน่อย นั่นคือเอกลักษณ์ของพวกเราหรือ “อัตลักษณ์ของคนกระทรวง” นั่นเอง ซึ่งจะว่าไปแล้วนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะอัตลักษณ์บวกเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสิ่งสำคัญ เช่น คุณลักษณะที่ดีต่าง ๆ วิสัยทัศน์ ความรู้ความสามารถ หรือพฤติกรรมที่มีคุณค่าอื่น ๆ ของบุคคล กลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานที่คนทั่วไปรับรู้หรือมองเห็นได้และส่งผลต่อส่วนรวมหรือสังคม เช่น เราเห็นเด็กหนุ่มวัย 15-16 ปี กลุ่มหนึ่งในงานรื่นเริงแห่งหนึ่ง เรามองเพียงครู่เดียวเราก็จะบอกได้ว่าเด็กคนใดเป็น “นักเรียนวชิราวุธ” เด็กคนใดเป็น “นักเรียนสวนกุหลาบ” หรือเด็กคนใดเป็น “นักเรียนเตรียมทหาร” เพราะแต่ละคนจะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันตามอัตลักษณ์ที่โรงเรียนเป็นผู้กำหนด หรือปลูกฝัง ฝึกปรือให้เราสังเกตได้ จากบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่รูปร่างหน้าตา
Advertisement
นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ ชมรมข้าราชการและครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการ และ “คนกระทรวง” ในโอกาสที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ได้ไปร่วมประชุมกรรมการบริหารประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 ของชมรมฯ และกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาไทยในแง่มุม แนวคิดและทิศทางต่าง ๆ พร้อมขอให้ทางชมรมฯ ให้ข้อเสนอแนะหรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ท่านกล่าวถึงบุคลากรของกระทรวงหรือ “คนกระทรวง” ว่า ควรมีอัตลักษณ์ที่มีคุณค่าในบริบทของสังคมปัจจุบันและในยุคประชาคมอาเซียน เช่น มีความเป็นไทยที่มีคุณค่า แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นครูและความรู้ความสามารถที่จะสอนหรือสร้างเด็กและทำให้ตนเองดำรงชีวิตอยู่ในสังคมของยุคสมัยนี้อย่างมีคุณภาพด้วย นั่นคือต้องมีความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ท่านกล่าวว่า “เราน่าจะสร้างคนกระทรวงให้เป็นคนกระทรวงซึ่งมีอัตลักษณ์ของกระทรวง” ซึ่งเมื่อนำมาตีความและขยายความแล้วก็น่าจะหมายความว่า เราควรมีอัตลักษณ์ตามปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ และวัตถุประสงค์ในการประกอบอาชีพของเรา ซึ่งก็คืออาชีพ “ครู” ไม่ว่าเราจะเป็นครูสอนในชั้นเรียน เป็นนักวิชาการ หรืออยู่ในตำแหน่งใด ๆ ของกระทรวงฯ ก็ตาม เราก็อยู่ในบรรยากาศ กลิ่นอายและ “วัฒนธรรมของความเป็นครู” ด้วยกันทุกคน
ดังนั้น กระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ครูดีควรมีจิตวิญญาณของความเป็นครู” จึงควรจะถูกอัญเชิญมาเป็น “อัตลักษณ์ของคนกระทรวง” ซึ่งเป็นครูหรือมีลักษณะของความเป็นครูได้เป็นอย่างดี นั่นคือการมีอัตลักษณ์ของความเป็น “ครูดี” คือเป็น “ผู้ให้” ที่ให้ทั้งวิชาความรู้ ความรักและเมตตา ความห่วงใย ความปรารถนาดี และการให้อภัย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทั้งทางพฤติกรรมและทางใจที่มีต่อนักเรียนและต่อสังคม
นอกจากนี้ยังมีอัตลักษณ์อื่น ๆ ทางกายภาพด้วย เช่น แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์หรือมีทรงผมในลักษณะที่ทันสมัยและเรียบร้อย ส่วนกิริยาวาจาก็สุภาพอ่อนโยน และสำคัญที่สุดคือ ควรพัฒนาความรู้ความสามารถในการทำงานและเป็น “ต้นแบบ” ของความประพฤติที่ดีงาม มีความรักชาติบ้านเมือง ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม จริยธรรมและเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งมีความเป็น “พลเมืองดี” ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข. ประพีร์พรรณ ภาณวะวัฒน์ กรรมการบริหารชมรมข้าราชการ และครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการ
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 ธันวาคม 2558