พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือร่วมกับ 9 เครือข่ายเพื่อพัฒนาอุดมศึกษา ในการเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือ การถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรม ให้แก่โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีหม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.), รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และผู้แทนมหาวิทยาลัยแม่ข่ายทั้ง 9 เครือข่ายเข้าร่วมหารือ เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2558 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับเครือข่ายเพื่อพัฒนาอุดมศึกษา* ในประเด็นการเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในด้านต่างๆ ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้/นวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายก็ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ อยู่แล้ว แต่ยังอยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัยและยังไม่เป็นระบบ ประกอบกับไม่มีข้อมูลโรงเรียนที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์และกำหนดเป็นเชิงนโยบายได้
ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมาหารือร่วมกัน เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในฐานะเครือข่ายอำนวยการกลาง ได้มีแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาและชุมชนอย่างเป็นระบบมากขึ้น ในขณะเดียวกัน สพฐ.ก็จะต้องรวบรวมข้อมูลสถานศึกษาเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือส่งให้กับ สกอ. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนต่อไป
ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดให้ทุกมหาวิทยาลัยทั้ง 9 เครือข่าย เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในพื้นที่อย่างน้อย 1 แห่ง โดยขอให้มีการรวบรวมข้อมูลและกำหนดเป้าหมายโรงเรียน/ชุมชนที่จะลงไปเป็นพี่เลี้ยงในแต่ละเครือข่าย ตลอดจนจัดทำรูปแบบกิจกรรรม/วิธีการดำเนินการที่ชัดเจนให้แล้วเสร็จ และนำกลับมาเสนอภายในเดือนมกราคม 2559 อาทิ การให้ความรู้ทางวิชาการแก่ครู นักเรียน การสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็ก การถ่ายทอดองค์ความรู้/นวัตกรรมแก่ธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) การสร้างภูมิคุ้มกันและการคิดวิเคราะห์ให้กับประชาชน เป็นต้น
โดยมหาวิทยาลัยอาจดำเนินการในรูปแบบกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร) หรือจะดึงภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามาร่วมด้วยก็ได้ แต่ขอให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยไม่เป็นการสร้างภาระให้กับโรงเรียนเพิ่มเติมมากจนเกินไป
หลังจากนี้ มหาวิทยาลัยจะประชุมหารือจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินการกับมหาวิทยาลัยลูกข่าย และ สพฐ.จะรวบรวมข้อมูลโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือในแต่ละพื้นที่พร้อมประเด็นความช่วยเหลือกลับมาเสนอ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน ในช่วงต้นปี 2559 จะมีแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สำหรับ 9 เครือข่ายเพื่อพัฒนาอุดมศึกษา
มีสมาชิก 171 สถาบัน ครอบคลุม 78 จังหวัดทั่วประเทศ ดังนี้
1) ภาคเหนือตอนบน (17 สถาบัน-8 จังหวัด) - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแม่ข่าย
2) ภาคเหนือตอนล่าง (13 สถาบัน-9 จังหวัด) - มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นแม่ข่าย
3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (15 สถาบัน-12 จังหวัด) - มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแม่ข่าย
4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (17 สถาบัน-8 จังหวัด) - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นแม่ข่าย
5) ภาคกลางตอนบน (45 สถาบัน-9 จังหวัด) - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแม่ข่าย
6) ภาคกลางตอนล่าง (33 สถาบัน-9 จังหวัด) - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นแม่ข่าย
7) ภาคตะวันออก (8 สถาบัน-9 จังหวัด) - มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นแม่ข่าย
8) ภาคใต้ตอนบน (9 สถาบัน-9 จังหวัด) - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นแม่ข่าย
9) ภาคใต้ตอนล่าง (14 สถาบัน-5 จังหวัด) - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นแม่ข่าย
โดยมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนภารกิจเครือข่ายใน 8 ด้าน คือ เครือข่ายบริหารงานวิจัย เครือข่ายหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจสถาบันอุดมศึกษา เครือข่ายส่งเสริมและพัฒนาสหกิจศึกษา เครือข่ายบัณฑิตอุดมคติไทย เครือข่ายประกันคุณภาพการศึกษา เครือข่ายโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เครือข่ายการพัฒนายุทธศาสตร์อุดมศึกษา และเครือข่ายพัฒนานักศึกษา
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 15 ธันวาคม 2558