ที่ประชุมร่วม ศธ.-ธ.ออมสิน คิดมาตรการใหม่ใช้เงินในอนาคตชำระหนี้ครู ด้วยวิธีนำเงิน ช.พ.ค.ที่ได้รับหลังตายตั้งวงเงินปล่อยกู้ให้รีไฟแนนซ์ ชงครม.ตัดสิน 22 ธ.ค.นี้ คาดครูมีสภาพคล่องมากขึ้นปลดหนี้ได้ 3 แสนคน
วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. เปิดเผยภายหลังการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) โดยมีพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. เป็นประธาน ว่า ธนาคารออมสินได้รายงาน ว่า หลังจากที่ธนาคารได้เปิดให้ครูที่ผิดนัดชำระหนี้โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.มากกว่า 3 งวดขึ้นไป และถูกธนาคารออมสินยื่นโนติสไปแล้ว 13,405 คน เข้าไปไกล่เกลี่ย ปรากฏว่ามีครูติดต่อไปจำนวน 6,023 คน โดยเริ่มชำระหนี้แล้ว 1,521 คน และปิดบัญชีแล้ว 21 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนคนที่ยังไม่ไปติดต่ออีก 7,382 คนนั้น ศธ.ได้ขอให้ธนาคารออมสินยื่นโนติสอีกครั้ง และหากยังไม่ไปติดต่อก็ให้ฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป
รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงมาตรการแก้ไขอื่น ๆ โดยมีมติร่วมตามแนวทางที่ธนาคารออมสิน เสนอให้ใช้เงินอนาคต เช่น การใช้เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของสกสค. ที่ใช้ในการค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งญาติจะได้รับหลังจากสมาชิกเสียชีวิต มาใช้ในการรีไฟแนนซ์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ค้างชำระกับทางธนาคารส่วนหนึ่งก่อน แต่ไม่ใช่เป็นการก่อหนี้เพิ่ม ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไรนั้นยังไม่สามารถบอกได้ โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ ร้อยละ 6-6.5 ต่อปี ทั้งนี้จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ขณะเดียวกันธนาคารออมสินยังเสนอว่าสามารถนำเงินบำเหน็จตกทอด ซึ่งญาติจะได้รับหลังจากข้าราชการเสียชีวิตมาใช้ในการค้ำประกันเงินกู้เช่นเดียวกับเงินช.พ.ค.ได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องแก้กฎหมายและต้องไปศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เพราะเกี่ยวข้องกับหลายส่วน อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้ครูที่เป็นหนี้ในการลดภาระการผ่อนชำระและลดดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่ใช่การใช้หนี้แทน
“ส่วนที่จะเสนอให้ ธนาคารออมสิน ยกเลิกการคืนเงินให้กองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. และเปลี่ยนมาเป็นลดดอกเบี้ยให้ผู้กู้แทนนั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ อยากให้นำเงินจำนวนนี้มาใช้บริหารจัดการเรื่องสวัสดิการครูมากกว่าการยกเลิก โดยเฉพาะครูที่อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งจะได้รับเงินเดือนไม่ตรงในช่วงเปลี่ยนผ่านงบประมาณ ก็อาจจะนำเงินดังกล่าวไปช่วยก่อนได้ สำหรับครูที่ค้างชำระหนี้ และธนาคารออมสินหักเงินส่วนนี้ไปชำระหนี้แทนนั้น ขณะนี้สกสค.อยู่ระหว่างการติดตามทวงหนี้ ซึ่งจะต้องนำเงินมาคืนทั้งหมด”รศ.นพ.กำจร กล่าว
ด้านนายชาติชาย กล่าวว่า เงินช.พ.ค.เป็นเงินที่ครูนำมาค้ำประกันหนี้อยู่แล้ว แต่ธนาคารพยายามจะบริหารจัดการโดยนำเงินส่วนหนึ่งมาตั้งเป็นวงเงินกู้ เพื่อลดภาระในการผ่อนชำระ ไม่ได้นำมาทั้ง 100% ซึ่งหากครม. เห็นชอบตามที่ธนาคารออมสินเสนอจะมีครูที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารออมสินประมาณ 3 แสนคน สามารถเคลียร์ยอดหนี้ได้ในวงเงินที่เพียงพอ โดยปัจจุบันมีครูที่กู้เงินจากธนาคารออมสิน ประมาณ 490,000 คน มูลหนี้รวมกว่า 490,000 ล้านบาท
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 ธันวาคม 2558