ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการชี้ความล้มเหลวในการอบรมครูทำให้ขาดบุคลากรที่มีคุณภาพ ระบุโรงเรียนทั้งประเทศสามารถปฏิรูปการเรียนรู้ได้ไม่ถึง 10% ย้ำทุกคนสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องรอใคร
เมื่อเร็วนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) และภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ได้จัด
‘เวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย’ ในหัวข้อ ‘ระบบโรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้’ เพื่อหาแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ
นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสคลุกคลีกับงานด้านการศึกษามานาน สามารถกล่าวได้ว่าประเทศไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาไม่เคยมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง มีเพียงโรงเรียนไม่กี่แห่งเท่านั้นที่สามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้สำเร็จ สำหรับภาพรวม ในประเทศไทยมีโรงเรียนที่สามารถปฏิรูปการเรียนรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรมไม่ถึง 10 % จากโรงเรียนทั้งหมดทั่วประเทศ เมื่อเทียบสัดส่วนแล้วถือว่าน้อยมาก และไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษากระแสหลักได้
“การจะปฏิรูปการเรียนรู้ได้นั้นต้องคำนึงถึงความหลากหลายของโรงเรียน ซึ่งมีทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก อีกทั้งโรงเรียนแต่ละแห่งก็มีความแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาโดยใช้โมเดลแบบเดียวกันทั้งประเทศย่อมไม่มีทางสำเร็จ”
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนึ่งที่หลายโรงเรียนต่างก็ประสบเหมือนกันคือ การขาดแคลนครู หรือจำนวนครูไม่สอดคล้องกับขนาดของห้องเรียน ทำให้ไม่สามารถดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง เมื่อครูมีภาระงานที่มากเกินไปจึงส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนด้อยลงตามไปด้วย อัตรากำลังครูในปัจจุบันนอกจากจะไม่สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนแล้ว วิชาที่ครูสอนยังไม่ตรงกับสาขาวิชาเอกที่เรียนมา เมื่อครูไม่มีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชานั้นโดยตรง จึงจำเป็นต้องเข้ารับการฝึกอบรม ขณะเดียวกัน ขั้นตอนวิธีการอบรมครูก็มีความผิดพลาดล้มเหลวมาโดยตลอด ทำให้ไม่สามารถพัฒนาครูที่มีคุณภาพขึ้นได้
“ตราบใดที่ครูยังไม่เปลี่ยน การปฏิรูปก็ย่อมไม่เกิด และถ้าแก้ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ไม่ได้ ผมบอกได้เลยว่าประเทศไทยไม่มีทางปฏิรูปสำเร็จ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียนก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งตลอด 50 ปีที่ผ่านมาทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม รัฐไม่เคยลงทุนด้านนี้อย่างจริงจัง เพราะมองไม่เห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก รัฐมองว่า สภาพสิ่งแวดล้อมไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพทางการศึกษา ฉะนั้น จึงไม่มีห้องสมุด ไม่มีมุมหนังสือ ไม่มีสื่อการเรียนรู้ดีๆ ให้กับเด็ก มีเฉพาะบางโรงเรียนเท่านั้นที่มีทรัพยากรเพียงพอ ขณะที่หลายโรงเรียนไม่มีเลย”
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงวิธีการวัดและประเมินผลการศึกษาว่า ปัจจุบันให้ความสำคัญกับคะแนนโอเน็ต (O-NET) มากเกินไป การเรียนมุ่งเน้นการวัดความจำและการวัดเกรด โดยที่ครูไม่สอนให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ กระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยทั้งพลังแนวดิ่งและพลังแนวราบ โดยพลังแนวราบหมายถึงการสร้างความร่วมมือกับภาคีในพื้นที่และชุมชน ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง และพระสงฆ์ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับชุมชน วันนี้เรารอให้ใครมาช่วยปฏิรูปไม่ได้แล้ว ทุกคนสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอใคร
ด้านนายโกวิท บุญเฉลียว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคูเมือง (อ่อนอนุเคราะห์) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้สำรวจพบว่ามีปัญหาเด็กหนีเรียน เบื่อหน่ายการไปโรงเรียน ทำให้เกิดการมั่วสุม ทางโรงเรียนจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการศึกษาโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เน้นการเรียนเพื่อตอบสนองความต้องการเป็นรายบุคคล ใช้หลักเมตตาและให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ กระบวนการปฏิรูปเริ่มจากการสำรวจความต้องการของเด็กแต่ละคนว่าสนใจกิจกรรมเรื่องใดบ้าง จากนั้นทางโรงเรียนจึงพยายามเติมเต็มในเรื่องนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมดนตรีและกีฬา รวมถึงส่งเสริมทักษะอาชีพการงาน เช่น งานจักสาน งานปูน ไฟฟ้า การทำเกษตร
ขณะที่นายกัมพล เจริญรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอกันทรลักษ์ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา เพียง ๘ กิโลเมตร ใช้ภาษากัมพูชาเป็นภาษาถิ่น 95% สิ่งที่ตามมาคือ เด็กนักเรียนประสบปัญหาการใช้ภาษาไทย จึงไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ทางโรงเรียนจึงจัดการเรียนรู้ใหม่โดยไม่ยึดติดตำราเรียนเป็นตัวตั้ง เพราะโลกแห่งการเรียนรู้ไม่ได้มีอยู่แค่ในห้องเรียน
ในปี 2556 ทางโรงเรียนเริ่มต้นทดลองให้ผู้ปกครองมาโรงเรียนสัปดาห์ละ ๑ วัน และร่วมทำกิจกรรมเหมือนกับเด็กนักเรียน เพื่อให้เห็นว่าในแต่ละวันลูกหลานได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งเสียงสะท้อนกลับมาจากผู้ปกครองค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ จากนั้นจึงดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการศึกษาร่วมกัน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของชุมชนมากที่สุด ช่วยให้เด็กนักเรียน ครู และผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
นายกัมพล กล่าวด้วยว่า กระบวนการดังกล่าวนี้เรียกว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนครู (Professional Learning Community: PLC) สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปโรงเรียนอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับวิถีชุมชน
“ถ้าเราลงมือทำ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ทำด้วยหัวใจ เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ แล้วขยายไปทั้งโรงเรียนและสร้างเครือข่ายนอกโรงเรียน แม้มันจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่เราก็ภูมิใจที่เห็นการเปลี่ยนแปลงและมีความสุขที่ได้ลงมือทำ”
ที่มา สำนักข่าวอิศรา วันที่ 10 ธันวาคม 2558