สพฐ.ตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบตกซ้ำชั้น เล็งดึงรูปแบบการเก่ามาพิจารณาร่วม คาดได้ข้อสรุปเสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาในเดือน ม.ค.ปีหน้า
วันนี้ (9 ธ.ค.) นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ไปวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของการสอบตกซ้ำชั้น นั้นขณะนี้ตนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นหนึ่งชุดเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยในวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านการศึกษา รวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ มาประชุมร่วมเพื่อกำหนดแนวทางการตกซ้ำชั้น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเรื่องการตกซ้ำชั้นมีการดำเนินการอยู่แล้วโดยระดับประถมศึกษาหากเด็กสอบไม่ผ่านเกินครึ่งหนึ่งของรายวิชาที่เรียน ก็จะเชิญผู้ปกครองมาพูดคุยว่า ต้องการที่จะให้บุตรหลานของตนเองเรียนซ้ำชั้นหรือไม่ หรือหากสอบไม่ผ่านในรายวิชาใดวิชาหนึ่งครูจะเป็นผู้พิจารณาสอนเสริมให้แก่เด็ก เพื่อให้ผ่านรายวิชานั้น ส่วนระดับมัธยมศึกษา หากเด็กมีเกรดเฉลี่ยไม่ถึง 1.00 ก็จะให้เรียนซ้ำชั้น ซึ่งตนเห็นว่าการที่เด็กสอบไม่ผ่านครูควรให้เด็กเรียนซ่อมเสริม เพื่อที่จะได้รู้ว่าเด็กเรียนอ่อนตรงจุดไหน ไม่ใช่ให้เด็กทำรายงานส่งแล้วก็ให้ผ่าน
“เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ของการตำซ้ำชั้น โดยจะนำรูปแบบการตกซ้ำที่เคยดำเนินการไว้แล้วมาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อหารูปแบบการตกซ้ำชั้นที่เหมาะสมมากที่สุดเพราะขณะนี้สังคมมีเสียงแตกออกหลายประเด็น มีทั้งหากให้เด็กตกซ้ำชั้นก็เหมือนเป็นการสร้างปมด้อยให้แก่เด็ก หรือ บางส่วนก็มองว่าควรจะให้ซ้ำชั้น เพื่อคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าแนวทางใดจะดีที่สุด ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ละเอียดอย่างรอบด้าน เพราะหากสร้างเด็กให้มีคุณภาพตั้งแต่เริ่มต้นก็จะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาในระยะยาว ซึ่งผมไม่อยากให้ใครมองว่าระบบส่งต่อการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามเมื่อได้ข้อสรุปจะจัดทำประชาพิจารณ์และเสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเดือนมกราคมปี 2559” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 ธันวาคม 2558