“สุรวาท” เผยทุกวันนี้มีระเบียบให้เด็กตกซ้ำชั้นอยู่แล้ว แต่ครูไม่ทำเพราะโดนตำหนิ ชี้การตกซ้ำชั้นไม่มีผลต่อคุณภาพเด็กมากนัก แนะ ศธ.ต้องลดภาระงานของครู เพื่อส่งเสริมให้ครูอยู่กับเด็กมากขึ้น การตกซ้ำชั้นจึงจะเกิดประโยชน์
วันนี้ (4 ธ.ค.) ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม (มรม.) และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการตกซ้ำชั้น เพราะเชื่อว่าจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่นักเรียนว่า ทุกวันนี้ระเบียบการให้นักเรียนตกซ้ำชั้นก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีครูกล้าให้เด็กสอบตก เพราะผู้บริหารโรงเรียนมีนโยบายไม่ให้เด็กตก ถ้ามีเด็กตก ครูก็จะถูกตำหนิจากผู้บริหาร อย่างไรก็ตามตนไม่เชื่อว่าการตกซ้ำชั้นจะมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็กได้มากนัก เพราะทุกวันนี้สาเหตุที่เด็กไม่มีคุณภาพ เนื่องจากครูมีภาระงานที่นอกเหนือจากการสอนจำนวนมาก จึงไม่มีเวลาดูแลเด็ก ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องลดภาระงานครู เพื่อส่งเสริมให้ครูอยู่กับเด็ก และลดกิจกรรมการประกวด การแข่งขัน ตลอดจนปรับกลไกการให้ความดีความชอบต่างๆ เช่น เงินวิทยฐานะ เพราะทุกวันนี้ยังผูกติดอยู่กับคะแนนของเด็ก
“การจะพัฒนาให้เด็กมีคุณภาพ ครูต้องประเมินหาจุดอ่อน และพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง แต่ทุกวันนี้ครูมีเวลาอยู่กับเด็กน้อย จึงไม่มีเวลามาประเมิน และพัฒนาเด็ก ดังนั้นแม้จะให้เด็กตกซ้ำชั้นอย่างไรก็ไม่มีทางพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพดีขึ้นได้ เราจึงไม่ควรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุโดยให้ครูมีเวลาอยู่กับเด็กมากที่สุด ต้องปรับแก้กลไกที่ทำให้ครูต้องเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระ นอกจากนี้การที่เด็กตกซ้ำชั้น หากเป็นเด็กวัยรุ่นบางคนอาจอายเพื่อน ไม่อยากเรียน ส่งผลให้เด็กหนีโรงเรียน ซึ่งก็จะยิ่งมีปัญหาตามมาอีกมาก อย่างไรก็ตามเรื่องตกซ้ำชั้นนั้น ผมจะเห็นด้วยก็ต่อเมื่อครูมีเวลาอยู่กับเด็ก และได้ใช้ความพยายามในการพัฒนาเด็กอย่างเต็มที่แล้ว ”ผศ.ดร.สุรวาท กล่าว.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 ธันวาคม 2558