สำรวจทุนมนุษย์กับศักยภาพแข่งขันทางเศรษฐกิจเมื่อเข้าสู่ AEC พบ“สิงคโปร์” อันดับ 1 ตามด้วยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขณะที่ไทยอยู่อันดับปานกลาง พบทุนมนุษย์สูงกว่าอินโดนีเซียแต่ศักยภาพแข่งขันทำได้น้อยกว่า ด้านภาคธุกิจสะท้อนการศึกษาไม่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคประกอบการและทิศทางการพัฒนาประเทศ พบธุรกิจSMEไทย สัดส่วนสูงถึง 2.4 ล้านราย แต่ 1 ใน 3 มีอายุขัยเพียง 3 ปี เหตุขาดแรงงานที่มีทักษะหลากหลาย ผลิตกำลังคนไม่ตรงกับงาน ชี้จุดคานงัดพัฒนากำลังคนเริ่มที่จังหวัดง่ายกว่าระดับประเทศถึง 100 เท่า นำร่องผลิตคนให้ตรงกับทิศทางเศรษฐกิจ 3 จังหวัด “เชียงใหม่-ภูเก็ต-ตราด”
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้มีการจัดงานแถลงข่าว “สำรวจทุนมนุษย์ไทยเมื่อก้าวสู่เออีซี” ศักยภาพการแข่งขันหรือตัวฉุดรั้งการพัฒนา โดยดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์แรงงาน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า นับถอยหลังอีก 29 วัน ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามหากดูจากการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ปี 2015 โดยเวทีเศรษฐกิจโลกหรือเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม เพื่อสะท้อนถึงความสำคัญของการลงทุนและการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ตลอดช่วงชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยมีการจัดอันดับประเทศทั้งสิ้น 124 ประเทศจะพบว่า สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นอันใน 1 ในอาเซียน (ลำดับที่ 24 ของโลก) รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ (46) มาเลเซีย (52) ไทย (56) และเวียดนาม (59)
“ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแรงงานที่มีทักษะ โดยพบว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาความยากในการจ้างงานที่มีทักษะ โดยอยู่ในอันดับที่ 5 ในอาเซียน และอันดับที่ 69 ของโลก ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีความสามารถในการจ้างแรงงานที่มีทักษะได้มากกว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ประเทศไทยจะมีดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ในอันดับปานกลาง แต่ความสามารถในการใช้ทรัพยากรมนุษย์ไปสู่ศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจกลับพบว่า ไทยทำได้เท่ากับค่าเฉลี่ย ในขณะที่ประเทศอื่นทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย โดยประเทศที่สามารถแปลงทุนมนุษย์เป็นความสามารถในการแข่งขันได้ดีเป็นอันดับ1 คือ สิงคโปร์ ตามด้วยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งอินโดนีเซียที่ทุนมนุษย์น้อยกว่าไทย แต่ความสามารถในการแข่งขันทำได้ดีใกล้เคียงกับไทย หากเจาะลึกถึงประสิทธิภาพแรงงานไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าผลิตภาพของแรงงานไทยอยู่ในระดับคงที่ เนื่องจากการผลิตของไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นแรงงานไร้ฝีมือ โดยเฉพาะภาคการเกษตรและภาคการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอ ขณะที่ภาคการเงินส่วนใหญ่ 80% เป็นแรงงานมีฝีมือจึงสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงกว่า นอกจากนี้ความขาดแคลนทักษะแรงงานที่หลากหลายเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของกลุ่มธุรกิจSME ซึ่งมีจำนวนถึง 2.7 ล้านราย โดย 1 ใน 3 มีแนวโน้มจะปิดตัวลงภายใน 3 ปีหลังจากเริ่มเปิดกิจการ” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการสสค. กล่าวว่า ข้อค้นพบสำคัญจากการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์พบว่า ระบบการศึกษาของไทยยังขาดความเชื่อมโยงเรื่องการเรียนและการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้เกิดการผลิตบัณฑิตไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาไทยที่ลงเรียนสายสังคมศาสตร์ ธุรกิจและกฎหมายสูงที่สุดจำนวนถึง 1,337,272 คน (คิดเป็น 53% ของนักเรียนทั้งหมด) ขณะที่สายวิศวกรรม การผลิต และการก่อสร้างมีเพียง 247,883 คน หรือ 9% สายวิทยาศาสตร์ 8% และการบริการ 1.8% ซึ่งมุมมองจากภาคธุรกิจเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนคุณภาพการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าประเทศที่มีระดับทุนมนุษย์ใกล้เคียงกัน โดยนักธุรกิจไทยให้คะแนนคุณภาพการศึกษาในระดับ 3.89 ซึ่งต่ำกว่าเวียดนาม และอินโดนีเซีย และยังพบปัญหาลูกจ้างขาดทักษะตามที่นายจ้างคาดหวังในทุกด้าน ทั้งทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะคอมพิวเตอร์ การคำนวณ การบริหารจัดการ หรือแม้แต่ทักษะความสามารถเฉพาะทางวิชาชีพ
“ขณะนี้เศรษฐกิจไทยอมโรค เพราะการศึกษาไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการ ระบบการศึกษายังคงจัดการเรื่องธรรมดาทั่วไปยังอยู่ในศตวรรษที่ 19 ขณะที่โลกเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็วก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ดังนั้นการศึกษาที่ตอบโจทย์ต้องเริ่มตั้งแต่ม.ต้นให้เด็กค้นพบศักยภาพของตัวเอง และต้องวางแผนอาชีวศึกษาโดยให้ภาคเอกชนเข้าร่วมมือ ส่วนภาคอุดมศึกษาต้องปรับบทบาทของตัวเองเพราะจำนวนเด็กที่ลดลงจะเกิดการยุบตัวของสถาบันลงอีก 20 แห่ง จึงต้องปรับบทบาทผลิตคนที่ตรงกับความต้องการของตลาด ลดจำนวนการเปิดสอนสายสังคม และทำงานเป็นหน่วยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายและให้การสนับสนุน และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ท้องถิ่น ท้องที่เข้ามาเป็นผู้จัดการศึกษาเองอย่างจริงจัง”ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ นักวิชาการสสค. กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพประชากรให้ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต้องทำใน 2 กลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มแรงงานในปัจจุบัน และกลุ่มเด็กเยาวชนที่จะเป็นแรงงานในอนาคต โดยจุดคานงัดของการพัฒนาคือการทำงานในระดับพื้นที่ เนื่องจากประสบการณ์ของสสค.ที่ทำงานร่วมกับจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้พบว่า การจัดการในพื้นที่ง่ายกว่าระดับประเทศถึง 100 เท่า และยังสอดรับกับทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมและการบริการ หากมีการพัฒนาคนในพื้นที่รองรับจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งขณะนี้สสค.ได้ดำเนินการใน 3 จังหวัดนำร่องคือ เชียงใหม่ ตราด และภูเก็ต ในการพัฒนากำลังคนรองรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดด้วยการสำรวจทิศทางความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และการออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตกำลังคนรองรับ โดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน สถานศึกษา ภาควิชาการ และท้องถิ่น เช่น จ.เชียงใหม่ พบว่าจะมีอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการในอนาคตคือ การดูแลผู้สูงอายุ เพราะมีจำนวนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และทิศทางการพัฒนาจังหวัดคือ Wellness City จึงมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด โดยสามารถเรียนสาขาพยาบาลหรือทางการแพทย์ได้ ส่วนจ.ตราด จะเน้นการยกระดับเกษตรพาณิชย์ และจ.ภูเก็ต จะเน้นการท่องเที่ยวและการโรงแรม รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ขอบคุณข่าวจาก สสค.