พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวทางการตกซ้ำชั้น การที่ผู้บริหารสถานศึกษาอนุมัติการลาและไปราชการด้วยตนเอง รวมทั้งการให้สำรวจสาเหตุการเรียนกวดวิชา
การทบทวนแนวทางการตกซ้ำชั้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีนักเรียนชั้น ป.4 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่คล่อง และมีสถานศึกษาของอาชีวะบางแห่ง ที่จะต้องสอนวิชาสามัญเพิ่มเติมให้กับเด็กที่มาเข้าเรียนในชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 ด้วย ซึ่งก็เป็นประเด็นได้ว่าเด็กบางคนอาจยังไม่มีความพร้อมที่จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะทบทวนการนำวิธีการตกซ้ำชั้นว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ประกอบกับที่ผ่านมาเมื่อไม่มีการตกซ้ำชั้น โรงเรียนก็ได้มีมาตรการซ่อมเสริมให้กับเด็กที่เรียนอ่อน ซึ่งมาตรฐานแต่ละแห่งยังไม่เท่ากัน ส่วนครูก็มีวิธีการสอนซ่อมเสริมทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม
จึงได้มอบเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศึกษาข้อดีข้อเสียของวิธีการตกซ้ำชั้น โดยให้รับฟังความคิดเห็นทั้งภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย เพื่อหาแนวทางการพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะเลื่อนชั้นไปตามระบบ ซึ่งหากพบเด็กรายใดมีคุณภาพไม่ดี ก็จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมก่อนที่เลื่อนไปในชั้นเรียนที่สูงขึ้น ส่วนตัวเห็นว่าการตกซ้ำชั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากเราช่วยกันประคองเด็กให้ดี ความผิดพลาดนี้อาจช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเด็กได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ขอให้มีการศึกษาเพื่อแก้ปัญหากรณีที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาสามารถอนุมัติให้ตนเองลา รวมทั้งอนุมัติการเดินทางไปราชการได้ด้วยตนเอง เพราะเท่าที่ทราบยังไม่มีหน่วยงานใดทำเช่นนี้ได้ ยกเว้นกระทรวงศึกษาธิการ
Advertisement
สำรวจสาเหตุการเรียนกวดวิชา
รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวข้อคำถามจากสื่อมวลชนกรณีการกวดวิชาว่า ขณะนี้ได้มอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุในการเรียนกวดวิชา หรือเรียนพิเศษนอกห้องเรียน เพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ถูกจุด เพราะไม่สบายใจที่สังคมปรามาสครูว่าสอนไม่ดี และกั๊กเนื้อหาในชั่วโมงเรียนเพื่อไปสอนพิเศษ ซึ่งในความเป็นจริงมีครูเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ออกไปสอนพิเศษอย่างจริงจัง และจากข้อมูลที่ได้รับทราบมา เด็กส่วนใหญ่ไปเรียนพิเศษเพราะต้องการสอบเลื่อนชั้น สอบเก็บคะแนนให้ได้ดี และเพื่อเตรียมแอดมิชชันเข้าเรียนในสาขาที่ชอบ เป็นต้น
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 3 ธันวาคม 2558