พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการอาชีวศึกษา ในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2558 ที่หอประชุมวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ตำบลบางพูน อำเภอเมืองปทุมธานี โดยมี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ, ผู้บริหารส่วนกลาง, ผู้บริหารสถานศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 424 คน และผู้บริหารสถานศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 490 คน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงานการจัดการประชุมว่า เป็นการประชุมร่วมผู้บริหารสถานศึกษาของภาครัฐและเอกชน เพื่อรับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นครั้งแรก ซึ่งในปัจจุบันมีสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวม 892 แห่ง จัดการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาประมาณ 1 ล้านคน ผลิตกำลังคนในทุกสาขาอาชีพเพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนของภาคเอกชนและตามนโยบายของรัฐบาล โดยการประชุมร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นการสร้างความเป็นเอกภาพด้านการอาชีวศึกษาของประเทศ ที่จะได้รวมพลังขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับฟังบรรยายเกี่ยวกับวิสัยทัศน์และข้อเสนอแนะด้านการอาชีวศึกษาจากประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตลอดจนผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งมีการหารือถึงการรวมอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนในช่วงท้ายของการประชุมด้วย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้พบปะกับผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะทั้งภาครัฐและเอกชนในครั้งแรกนี้ ซึ่งต้องการมาย้ำนโยบายการทำงานของอาชีวะเท่านั้น เพราะที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของ สอศ. ที่สามารถขับเคลื่อนงานไปตามทิศทางที่รัฐบาลและเอกชนต้องการได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับการอาชีวศึกษา คือ การรวมอาชีวะรัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินงานอาชีวะทั้ง 2 ส่วนก้าวไปพร้อมกัน มีความเชื่อมต่อกันมากขึ้น ทั้งการเชื่อมต่อระหว่าง สอศ. กับ สช. และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาชีวะเอกชนมีจุดประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจทางการศึกษา แต่ยืนยันว่าเราก็ยังต้องช่วยเหลือกัน เพราะเอกชนสามารถแบ่งเบาภาระรัฐในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี จึงขอให้ทุกฝ่ายไม่มีอัตตาซึ่งกันและกัน เพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ในการนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดอาชีวศึกษา ดังนี้
1 สภาพปัญหาของอาชีวศึกษาในปัจจุบัน
- จำนวนผู้เรียนลดลง อันเนื่องจากภาพลักษณ์ของอาชีวะ การก่อเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา และค่านิยมการมีใบปริญญา
- ความไม่เพียงพอของการผลิตกำลังคน ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ขอให้ สอศ. หารือและร่วมมือกับภาคเอกชน/สถานประกอบการในการจัดทำแผนการผลิตกำลังคนและการเรียนการสอนอาชีวศึกษาร่วมกัน
- มาตรฐานสถานศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากแต่ละแห่งมีปัจจัยและศักยภาพแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนครู ความขาดแคลนครูที่จบตรงสาขา การพัฒนาครู ความพร้อมของสถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ เป็นต้น จึงต้องนำข้อขัดข้องเหล่านี้มาพิจารณา เพื่อให้ความช่วยเหลือเท่าที่สามารถดำเนินการได้ต่อไป
- หลักสูตรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีหลายสาขาที่เป็นหลักสูตรใหม่และเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น หุ่นยนต์ โมเดิร์นฟาร์ม ซึ่งจะต้องมีการทบทวนหลักสูตรให้มีความทันสมัยมากขึ้น
- การจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นไป จะมีการทบทวนวิธีการของบประมาณของทุกแท่งทุกสำนัก โดยจะต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ ตัวชี้วัด ระยะเวลา และผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนมาเสนอ เพื่อให้การของบประมาณสอดคล้องและเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้จะนำข้อมูลการของบประมาณปีที่ผ่านมาหรือก่อนหน้านี้มาเป็นข้อมูลในการพิจารณาด้วย
- การบริหารจัดการการอาชีวศึกษา ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนจากส่วนกลางไปยังภูมิภาคต่างๆ มีกลไกเพียงอย่างเดียวคือ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงต้องการศึกษาว่าการบริหารเช่นนี้ เป็นวิธีการที่ดีหรือไม่อย่างไร และจะดีกว่าหรือไม่หากจะมีผู้ที่คอยช่วยประสานงานทั้งสองส่วนให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น
2 นโยบายด้านการอาชีวศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ 9 ข้อ
- การสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษา ที่จะช่วยส่งเสริมให้มีผู้สนใจเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สอศ.ได้จัดทำสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้ถึงภาพลักษณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ หนังสั้น เพลง การจัดโรดโชว์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเห็นว่าควรมีการทบทวนการศึกษาต่อเนื่องระดับปริญญาตรีอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมให้เด็กมาเรียนอาชีวะมากขึ้นและเป็นการสร้างโอกาสในการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้วย ซึ่งจะต้องมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันเรื่องนี้ต่อไป
ส่วนการแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และมีผลกระทบต่อสังคมเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจมาก จึงขอให้ผู้อำนวยการต้องลงไปเผชิญหน้าและดูแลปัญหาด้วยตนเอง ไม่ควรสั่งหรือปล่อยให้รองผู้อำนวยการหรือครูที่รับผิดชอบลงไปดูแล รวมทั้งจะต้องหาช่องว่างของมาตรการต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงานตามมาตรการได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพต่อไป เพื่อจะได้เห็นรายละเอียดของปัญหา โดยกล่าวย้ำว่าปัญหาการรับน้องของอาชีวะมีมานานแล้ว แต่การจะแก้ปัญหากับเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังอยู่ในช่วงวัยที่มีวุฒิภาวะน้อย แต่มีพลังที่ต้องการจะปลดปล่อยมาก จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องช่วยเหลือให้เขาสามารถปลดปล่อยพลังในทางที่ถูกที่ควร
- ทวิภาคี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาอาชีวะกับภาคเอกชนในการจัดการอาชีวศึกษา และจากการหารือกับประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนด้านอาชีวศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าทวิภาคีเป็นอีกระบบหนึ่งที่ช่วยให้การจัดการศึกษาตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับภาคเอกชนเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันนักเรียนและผู้ปกครองก็มีความสุขไปด้วย
นอกจากนี้ ยังได้รับเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนถึงข้อขัดข้องของระบบลดหย่อนภาษี จึงรับที่จะหารือและประสานกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ในขณะเดียวกันก็ได้แจ้งขอความร่วมมือให้ส่งข้อมูลความต้องการกำลังคนของภาคเอกชนมาโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้นำมาวางแผนและจัดทำหลักสูตรแต่ละสาขาวิชาต่อไป
ดังนั้น เมื่อผลการจัดการอาชีวศึกษารูปแบบทวิภาคีมีผลตอบรับที่ดีต่อทั้งสองฝ่าย จึงเห็นควรให้มีการขยายผลให้มากขึ้น โดยขอให้ผู้บริหารอาชีวะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้อาจนำผลของความร่วมมือทวิภาคีเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินผู้อำนวยการตามบริบทของวิทยาลัยแต่ละแห่งด้วย
- ทวิศึกษา หรือการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่ง สอศ.สามารถดำเนินงานได้เป็นอย่างดี และมีนักเรียนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในปีการศึกษา 2559 จะมีนักเรียนในสังกัด สช. เข้าร่วมนำร่องอีกกว่า 5,000 คน ทั้งนี้ได้เน้นย้ำถึงคุณภาพทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพ พร้อมทั้งให้มีการฝึกงานในสถานประกอบการควบคู่ไปด้วย
- การส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง ซึ่ง สอศ.ได้ทำการคัดเลือกสถานศึกษานำร่องในการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559-2560 รวม 12 แห่ง ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านการส่งเสริมการลงทุนในซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ด้านคมนาคม ด้านปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ด้านอาหาร ด้านแม่พิมพ์และชิ้นส่วนยานยนต์ ด้านท่องเที่ยวและการโรงแรม ด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยในอนาคตกระทรวงศึกษาธิการจะขยายผลในสาขาวิชาใหม่ที่เป็นความต้องการมากขึ้น เช่น ระบบราง โมเดิร์นฟาร์ม เป็นต้น ทั้งนี้ได้มอบให้ สอศ.จัดทำรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานเรื่องนี้ เพื่อนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (ซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา) ครั้งต่อไปด้วย
- การยกระดับอาชีวศึกษาสู่สากล มีความต้องการที่จะยกระดับการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาไทยให้เป็นศูนย์กลางการอาชีวศึกษาของอาเซียนให้ได้ โดยมีแนวทางที่จะดำเนินการในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสถานศึกษาที่เป็นความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ดังเช่นโรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน การพัฒนาบุคลากรรองรับการคมนาคมขนส่งระบบราง การยกระดับภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของเด็กอาชีวะนอกเหนือจากศัพท์เทคนิคต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพมากขึ้น นอกจากนี้มีแนวคิดที่จะยกระดับภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษาในรูปแบบการสอบเพื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วย ซึ่งขณะนี้มอบให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ หารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ได้มอบให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวะทุกแห่งสนับสนุนการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยจับคู่กับโรงเรียนในพื้นที่ โดยเน้นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อให้ได้มีโอกาสฝึกกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทั้ง 4H หรือกิจกรรมที่ฝึกปฏิบัติ/เรียนรู้ หรือกิจกรรมแนะแนวการศึกษาต่อ เพื่อให้เด็กได้รู้จักตัวเอง และหากเด็กเกิดความชอบ ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีผู้บริหารโรงเรียนใดไม่ยอมให้สถานศึกษาของอาชีวะเข้าไปแนะแนวเรื่องการศึกษาต่อ ขอให้รายงานให้ รมว.ศึกษาธิการทราบโดยตรง
- การฝึกอาชีพระยะสั้น ซึ่งสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ทั้ง 421 แห่งทั่วประเทศ ได้ร่วมกันจัดการฝึกอบรมให้กับประชาชนจำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยใช้หลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นในประเภทวิชาขาดแคลน เช่น วิชาอุตสาหกรรม วิชาบริหารธุรกิจ วิชาศิลปกรรม วิชาคหกรรม วิชาเกษตรกรรม มีการต่อยอดทักษะอาชีพเดิม และพัฒนาทักษะเสริมอาชีพที่ 2 นอกจากนี้มีแผนที่จะจัดอบรมภาษาอังกฤษร่วมกับภาคเอกชนให้กับผู้ทำงานอยู่ในระบบแรงงานแล้วด้วย
- นโยบายด้านการเงิน ขอย้ำเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณว่า ไม่ควรใช้งบประมาณแบบหารยาว แต่จะต้องใช้งบประมาณอย่างมีเหตุมีผลและคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ก่อนที่จะมีการจัดสรรงบประมาณ โดยหลักๆ คือต้องตอบโจทย์ปัญหาและมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน ดังนั้นจึงขอให้มีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณด้านการจัดการอาชีวศึกษาตามแนวทางนี้ต่อไป
- ทุนการศึกษา ขณะนี้ สอศ.มีทุนการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากหลายแหล่ง ทั้งทุนของภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุน ทุนในโครงการทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ (TTS) จึงต้องการให้จัดสรรทุนโดยคำนึงถึงสาขาวิชาที่ขาดแคลนเป็นลำดับแรก เพื่อส่งเสริมให้มีกำลังคนอาชีวศึกษาไปช่วยพัฒนาขับเคลื่อนประเทศได้มากขึ้น
รมว.ศึกษาธิการ ขอให้เลขาธิการ กอศ. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานทั้ง 9 นโยบายที่ให้ไว้ในวันนี้อย่างใกล้ชิด และรายงานผลให้ทราบเป็นระยะ เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไขอุปสรรคหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
3 นโยบายการทำงานของผู้บริหาร สอศ.
- ขอให้ผู้บริหารทุกคนในฐานะที่ทั้งผู้บังคับบัญชา (Commander) ผู้นำ (Leader) และผู้บริหารระดับสูง (CEO) ที่กำกับดูแลและบริหารงานสถานศึกษา จะต้องมีความรู้และเข้าใจนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอย่างถ่องแท้ ตลอดจนนโยบายของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา เพราะต้องทำงานและประสานความเชื่อมโยงกัน รวมทั้งมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศด้วย
- ขอให้มีการวิเคราะห์ SWOT Analysis เพื่อทบทวนการทำงานของตนเองว่ามีจุดแข็ง-จุดอ่อน-อุปสรรค-โอกาส อย่างไรบ้าง เพื่อนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาในแต่ละเรื่องให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา
- การประเมินสถานศึกษาอาชีวะภาครัฐและเอกชน ได้ย้ำถึงการประเมินผู้บริหารสถานศึกษาว่า ไม่ควรเป็นแบบ “ตัดเสื้อตัวเดียวใส่เหมือนกันทุกคน” อีกต่อไปแล้ว โดยขอให้การประเมินคำนึงถึงปัจจัยและบริบทของสถานศึกษาด้วย ทั้งนี้ได้ขอให้ผู้บริหารเขียนข้อเสนอแนะ ความต้องการ และปัญหาอุปสรรคในการทำงานต่างๆ ตลอดจนวิธีการส่งเสริมผู้อำนวยการที่ดีและเก่ง และลงโทษคนไม่ดี พร้อมทั้งรวบรวมส่งมาให้ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อวิเคราะห์ปรับปรุงการทำงาน สนองความต้องการ และประสานให้ความช่วยเหลือต่อไป
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 2 ธันวาคม 2558