เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกันจัดทำข้อกฎหมายเพื่อเรียกเงินคืนจากผู้ที่กู้เงินจากกองทุนเงินให้ กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เนื่องจากมีนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากที่กู้เงินแล้วไม่ยอมชำระหนี้นั้น ศธ.ส่งข้อมูลข้าราชการ ศธ.ที่ค้างชำระหนี้ให้หน่วยงานต้นสังกัดไปเตือน เพื่อทำข้อตกลงหักเงินเดือนผู้กู้ยืมที่ค้างชำระ และยังไม่เคยติดต่อชำระคืน รวมถึงผู้กู้ที่ชำระคืนตามปกติ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 2 ได้พูดคุยให้มหาวิทยาลัยเพิ่มความเข้มข้นในการปล่อยกู้มากขึ้น เน้นสาขาขาดแคลน และเป็นความต้องการของประเทศ
นายเปรมประชา ศุภสมุทร กรรมการกองทุน กรอ.กล่าวว่า เข้าใจว่ากฎหมายที่นายกฯมอบให้ กค.และนายวิษณุดูนั้น เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ กค.เคยเสนอให้ปรับเพิ่มในส่วนของการติดตามหนี้ โดยให้กรมสรรพากรเข้ามาทำหน้าที่ติดตามหนี้แทน กยศ.ผ่านระบบภาษี ซึ่งเป็นเรื่องดี ขณะเดียวกันต้องปรับแก้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ให้กองทุนฯมีอำนาจดึงข้อมูลของผู้กู้ทุกคนได้ เพื่อง่ายต่อการติดตาม แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไป
คือผู้ที่ไม่มีราย ชื่อในระบบภาษี หรือคนที่ไม่ทำงานประจำ เช่น เกษตรกร อาชีพอิสระ จะติดตามได้อย่างไร ซึ่งคนกลุ่มนี้มีมาก นอกจากนี้ เคยเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการด้านคุณธรรมจริยธรรมขึ้น เพื่อหามาตรการป้องปรามให้ผู้กู้เห็นความสำคัญของการชำระเงินคืน และคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ กำหนดแผนการปล่อยกู้ โดยเน้นในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศในช่วงนั้นๆ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 ธันวาคม 2558