เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ปัญหาหนี้สินของประชาชนน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลนี้คงสนใจและหาทางออก สถานการณ์วันนี้เหมือนดินพอกหางหมู เหมือนกวาดขยะไว้ใต้พรม เป็นระเบิดเวลาที่น่ากลัว รัฐบาลอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะสังคมที่กำลังพัฒนาที่ต้องมีหนี้สิน ไม่ว่ารัฐบาล เอกชน หรือครัวเรือนก็ต้องเป็นหนี้กันทั้งนั้น ก็ถูก แต่พูดแบบนี้ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะไม่ได้แยกว่า หนี้สินอะไรที่ไม่ใช่ปัญหา หนี้อะไรที่เป็นปัญหาและจะพาลงนรก
การแยกแยะปัญหาและหาที่มาสาเหตุที่หลากหลายน่าจะทำให้ได้แนวทางแก้ไขไม่ใช่วีธีเดียว อย่างหนี้ครูที่ส่วนหนึ่งต้องไปถามสหกรณ์ครูว่า ทำอย่างไรจึงจะบริหารจัดการเงินออมที่มีมากมายมหาศาลโดยไม่ต้องไปกระตุ้นให้ครูกู้ยืมมากมายขนาดนั้น เพียงเพราะสหกรณ์ต้องปล่อยเงินออม
สหกรณ์กระตุ้นทำให้ความต้องการกลายเป็นความจำเป็นไปหมด ไม่กู้ไปเที่ยวเมืองนอกก็อายเขา ไม่ขี่รถเก๋งก็ไม่สมฐานะ ถ้ารู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงบ้างอย่างที่สอนเด็กๆ ก็น่าจะรู้เองว่า มันไม่พอเพียง ไม่สมเหตุสมผลอย่างไร ไปทำลายภูมิคุ้มกันของครูไปจนหมด
สหกรณ์บอกว่าไม่เดือดร้อน ไม่เสี่ยง หนี้เสียเป็นศูนย์ เพราะเงินเดือนออกเมื่อไรก็หักไปใช้หนี้ตามสัญญา ที่มีหนี้เสียกลายเป็นธนาคารออมสินที่ปล่อยกู้ ไปปรับโครงสร้างหนี้ให้ครู ไปให้กู้ใหม่เพื่อไปใช้หนี้เก่า เป็นอย่างนี้มาหลายปี ก็ไม่เห็นว่าจะแก้ได้ รัฐบาลไหนมาก็ให้ความสำคัญไว้อันดับท้ายๆ
ครูจำนวนหนึ่งเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์
ต้องไปกู้หนี้นอกระบบเพื่อไปใช้หนี้ธนาคาร หรือเอาไปซื้ออยู่ซื้อกินและใช้จ่ายต่างๆ เพราะเงินเดือนรายได้เขาหักไปใช้หนี้สหกรณ์กับธนาคารหมด จึงเป็นที่มาของปัญหาคุณภาพครู สมาธิไม่มี เอาเวลาไปทำมาหากินอย่างอื่น โกงเวลาและทุจริตอีกหลายแบบ ชาวบ้านเป็นหนี้ เกษตรกรเป็นหนี้ ปัญหาใหญ่คือหนี้เน่าและหนี้นอกระบบที่เหมือนไม่มีทางออก และที่ร้ายไปกว่านี้คือหนี้จากการถูกหลอก ถูกโกง ถูกเอาเปรียบ ไปกู้เขา 50,000 เขาให้เอาโฉนดราคาหลายแสนไปจำนอง กลายเป็นว่าไปเซ็นขาย หรืออีกร้อยเล่ห์พันเหลี่ยมของมนุษย์ใจสัตว์ที่แสวงหาความร่ำรวยบนความทุกข์ยากของชาวบ้าน ซึ่งลำบากยากเข็ญอยู่แล้วก็ไปกระหน่ำซ้ำเติมเขาอีก
เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ จากที่ดีเอสไอกับกองปราบกำลังตามเรื่องอยู่เป็นคนมีความรู้ อาศัยความรู้ไปโกงไปหลอกชาวบ้านไม่ใช่สองสามราย แต่บางจังหวัดชาวบ้านถูกหลอกนับพันราย พวกนี้มีทีมงานใหญ่ ใช้คนรู้กฎหมายขี้โกงมาดูช่องทางทุกอย่างที่จะหลอกและเอาเปรียบชาวบ้าน
ในสภาวะปกติ กฎหมายธรรมดาอาจจะใช้ได้ แต่ก็ด้วยความยากลำบาก เพราะพวกนี้รู้ทางหนีทีไล่ แม้เจ้าหน้าที่จะใช้กฏหมายการฟอกเงินและอื่นๆ ไปช่วย อ้อยเข้าปากช้างก็ยากจะเอาออก เพราะส่วนหนึ่งมีการบังคับคดีไปแล้ว
วันนี้จึงเป็นโอกาสที่รัฐบาลในช่วงของการฟื้นฟูปฏิรูปจะใช้มาตรา 44 ช่วยชาวบ้านเหล่านี้ที่ถูกหลอกถูกโกง เพราะถ้าว่ากันตามกระดาษหรือตามตัวบทกฎหมาย ชาวบ้านไปเซ็นเอกสารแล้วก็เป็นไปตามนั้น แต่สภาพแวดล้อมทั่วไปทำให้เชื่อว่าพวกเขาถูกหลอกจริง กฎหมายก็ต้องดูที่เจตนาและบริบทต่างๆ ด้วยเช่นกัน การช่วยเหลือชาวบ้านด้วย ม.44 จึงไม่น่าจะขัดกับเจตนาของกฎหมาย
Advertisement
อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สิน ไม่ว่าของชาวบ้านหรือของครู หรือของใครในสังคมไทยวันนี้ ถ้าไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสมรอบด้านและบูรณาการก็คงยากที่จะแก้ได้อย่างยั่งยืน แก้วันนี้ วันหน้าไม่นานก็กลับไปเป็นหนี้อีก เพราะไปเอาหนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า แล้วก็มีชีวิตแบบเดิม เป็นชีวิตที่ขาดวินัย ขาดเป้าหมาย ขาดแบบแผน แก้ไปก็ไลฟ์บอย กำลังหารือเรื่องนี้กับคนที่เกี่ยวข้อง กับอีเอสไอ ในกระทรวงยุติธรรม เพื่อดูว่า ถ้าจับมือกันอย่างน้อย 3 ภาคีน่าจะช่วยพัฒนาโมเดลดีๆ เพื่อการแก้ปัญหาได้
ภาคีที่ ๑ ดีเอสไอและกระทรวงยุติธรรมจะช่วยในเรื่องกฎหมาย ทำให้คนที่หลอกชาวบ้าน อย่างถูกตามกฎหมาย ต้องถูกดำเนินคดีเพราะการฉ้อโกง กดขี่ข่มเหง เอาเปรียบดอกเบี้ยโหด ฟอกเงิน ไม่เสียภาษี ใช้ยาแรง เอาให้ติดคุก ยึดทรัพย์
ภาคีที่ ๒ สถาบันการเงิน ในกรณีนี้อาจเป็น ธ.ก.ส. ที่จะไปซื้อหนี้มาจาก นายทุน ที่ขี้โกงเหล่านั้นแล้วให้ชาวบ้านมาเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ยธรรมดา
ภาคีที่ ๓ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนหรือมหาวิทยาลัยชีวิต มีโรงเรียนแก้หนี้แก้จนที่ใช้เครื่องมือในการฟื้นฟูชีวิตของคนเป็นหนี้ คือ แผน ๔ แผน คือ แผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน แผนสุขภาพ ผู้ที่ผ่านการเรียนในหลักสูตร 3-6 เดือนนี้ สามารถนำไปขอให้ ธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพราะ ธ.ก.ส.ได้ร่วมมือกับสถาบันฯ พัฒนาเครื่องมือนี้หลายปีก่อน และใช้ได้ผลมาแล้ว
อีกไม่นาน เมื่อโมเดลนี้ได้ผลชัดเจน น่าจะขยายผลไปสู่วงกว้าง จากชาวบ้านเกษตรกรไปสู่กลุ่มอาชีพอื่น ซึ่งเป็นหนี้กันถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มที่หนักหนาสาหัสทั้งหลาย เชื่อว่า ถ้าผนึกพลังกันใช้กฎหมาย ใช้เงิน และใช้ปัญญา ปัญหาหนี้สินจะแก้ได้
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 1 ธันวาคม 2558