"ไม่ต้องตรวจหรือตอบคำถามสุขภาพ"
ประโยคจากโฆษณาประกันชีวิตผู้สูงอายุที่ดึงดูดให้คนสนใจ เมื่อได้ยินแล้ว แม้ไม่ใช่ผู้สูงอายุก็อยากทำประกันให้พ่อแม่หรือผู้สูงวัยในครอบครัว
ฟังดูง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน
เซ็นชื่อแกร๊กเดียวก็ได้กรมธรรม์มากอดให้อุ่นใจ
แต่ปัญหาหลายกรณีเกิดขึ้นเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิตลง แล้วทายาทผู้รับประโยชน์กลับพบว่าถูกบริษัทประกันภัยบอกล้างสัญญา เนื่องจากพบว่าผู้ทำประกันมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ก่อนมาทำประกันชีวิต บริษัทจึงคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่เคยจ่ายมาแล้ว
ไม่แปลกที่จะสร้างความขุ่นเคืองให้แก่ผู้เผชิญปัญหานี้ เพราะการทำประกันชีวิตคือการหวังสร้างความมั่นคงให้ผู้ที่อยู่ข้างหลัง เมื่อบุคคลที่รักจากไปแล้วยังมีค่าสินไหมทิ้งไว้ให้บุตรหลาน
แต่ผู้ทำประกันภัยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 ระบุว่า
"ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ"
แม้บริษัทประกันภัยจะไม่ตรวจหรือถามเรื่องสุขภาพ แต่เป็นหน้าที่ของคนที่จะทำสัญญาประกันชีวิตในการต้องแจ้งให้ทราบว่าป่วยเป็นอะไรในโรคสำคัญ หากพบว่ามีการปกปิดก็จะบอกล้างสัญญาได้
ไม่ต้องตรวจสุขภาพ หมายความว่า คุณต้องไม่เป็นโรค
พิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้อำนวยการกองกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) บอกว่า กรณีนี้ตามกฎหมายหากผู้เอาประกันไปปกปิดเงื่อนไขเรื่องสุขภาพตัวเอง บริษัทประกันภัยจะได้รับการยกเว้น ไม่จ่ายได้ แต่ในส่วนโฆษณา การอวดอ้างบอกประชาชนว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ อาจเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้เข้าไปซื้อเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญได้
"ประชาชนฟ้องได้ แต่ต้องส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) วินิจฉัยก่อน เขาจึงจะสั่งให้บริษัทประกันภัยต้องชดใช้ ที่ผ่านมา สคบ.ก็ได้รับเรื่องร้องเรียน ซึ่งผมมองว่าผู้บริโภคน่าจะถูกปิดบัง ทำให้หลงเข้าไปทำสัญญา การไม่อ่านสัญญาให้ดีก็เป็นส่วนหนึ่ง
"โดยหลักแล้วการโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา การโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ไม่ได้บอกให้หมด คำว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ หมายความว่าคุณต้องไม่เป็นโรค แต่โฆษณาไม่บอก คนรับสารก็ไม่รู้ นึกว่าเป็นมะเร็งก็ทำได้ ทุกคนก็เข้าใจแบบนั้น"
พิฆเนศอธิบายต่อว่า บริษัทประกันต้องรับผิดชอบเรื่องการโฆษณา แต่ผู้ทำสัญญาต้องอ่านข้อสัญญาและสามารถโต้แย้งได้ภายใน 7 วัน กรมธรรม์ออกมาก็มีสิทธิโต้งแย้งได้ แต่เมื่อไม่มีใครโต้แย้งก็ต้องรับสภาพไป
กล่าวตามหลักของ สคบ. พิฆเนศยืนยันว่า "การโฆษณาต้องไม่เกินความจริงไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ"
Advertisement
โฆษณาให้เข้าใจผิด
ลองพิจารณาเรื่องโฆษณาบ้าง
ดร.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า กรณีนี้เป็นลักษณะการให้ข้อความโฆษณาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้บริโภค อาจเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้าและบริการ
"น่าสังเกตว่าการโฆษณาแบบนี้จะเป็นการโฆษณากับผู้บริโภคสูงอายุ ที่อาจได้ข้อมูลไม่ครบ อาจมีอาการคิดได้ช้า ทำอะไรไม่ถี่ถ้วน การโฆษณากับผู้สูงอายุปัจจุบันมีรูปแบบการจูงใจ เช่น พูดช้าๆ หาบุคคลที่ดูน่าเชื่อถือ แสดงออกถึงความจริงใจ
"โฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์หรือวิทยุมีเวลาในการนำเสนอค่อนข้างน้อย ไม่สามารถพูดครบถ้วนได้ ตัวโฆษณาต้องชี้ว่าการโฆษณานั้นมีรายละเอียดนอกเหนือจากนี้อีกจำนวนมาก ควรมีการปรึกษาหรือพูดคุยโดยตรงกับผู้ขายประกันกำกับให้ชัดเจน"
ดร.ฉลองรัฐบอกว่า การทำโฆษณาแบบนี้ต้องถือว่าผิดจรรยาบรรณ มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์จากผู้บริโภค แต่ว่าไม่ให้ข้อมูลครบถ้วน ถือว่าเป็นเจตนาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการค้า แต่ไม่คำนึงถึงผู้บริโภค ต้องตั้งข้อสังเกตกลับว่า โฆษณาทุกชิ้น โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ต้องมีการผ่านคณะกรรมการตรวจพิจารณาจากนักวิชาการในสถาบันต่างๆ ร่วมกับเจ้าของสินค้าและทางสถานี ถ้าการโฆษณาแบบนี้ออกไปแล้วได้ผลเชิงไม่ดีกลับมา ต้องมาทบทวนถึงกระบวนการตรวจพิจารณาด้วยว่า คนที่ตรวจพิจารณามีความสมบูรณ์พร้อม มีความเข้าใจในตัวสินค้าและบริการนั้นหรือไม่
"ต้องยอมรับว่าบางครั้งคนที่เข้าไปตรวจก็มีส่วนได้ส่วนเสียกับสินค้า บางคนอาจมาจากสมาคมนักโฆษณา เอเยนซี่ หรือตัวแทนโทรทัศน์ช่องต่างๆ ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการโฆษณาสินค้าเหล่านี้อยู่แล้ว"
บอกให้ชัด-ตรวจสอบให้กระจ่าง
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เผยว่า ในวิธีพิจารณาความผู้บริโภคกำหนดให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาอยู่แล้ว
"หลักปกปิดในทางกฎหมาย คือการที่รู้แล้วเจตนาไม่แถลงในโรคภัยร้ายแรง อย่างมะเร็ง เบาหวาน ซึ่งไปหาหมอเขาก็จะทราบว่ามีแนวโน้มที่จะเป็น แต่ถ้าเขาไม่เคยไปหาหมอเลยแล้วเสียชีวิต ก็ไม่ถือว่าปกปิด เพราะเขาไม่รู้ แต่บริษัทมักอ้างว่าเขาทราบ แล้วไปคัดเวชระเบียนหรือประวัติผู้ป่วยย้อนหลังมา ซึ่งบางทีอาจไม่ใช่โรคที่เขาเสียชีวิตแล้วอ้างว่าเขาปกปิด บอกล้างสัญญาคืนเบี้ยประกันที่ชำระไป นี่คือการเอาเปรียบผู้บริโภค
"เราต้องถามกลับว่าตอนซักประวัติตัวแทนขายประกันทางบริษัท ได้ถามประวัติสุขภาพผู้ป่วยไหม ตัวแทนได้คอมมิชชั่นจากการขายประกัน ถ้าไม่มีจรรยาบรรณอาจเขียนไม่ตรงกับที่ผู้บริโภคบอกหรือเปล่า ซึ่งสิ่งนี้ยืนยันกันไม่ได้ สุดท้ายเป็นการบอกว่าผู้บริโภคปกปิด บริษัทจึงต้องมีระบบตรวจสอบกับตัวแทนขายว่ามีการแถลงของผู้ซื้อประกันหรือไม่
"การจ่ายเงินประกันก็ต้องมีความชัดเจน กติกาต้องชัดเจน ให้ผู้บริโภคตัดสินใจ การไม่ต้องตรวจสุขภาพหรือไม่ตอบคำถามสุขภาพ บริษัทยอมที่จะแบกรับความเสี่ยงอยู่แล้ว การประกันต่างๆ เหล่านี้เป็นประกันวินาศภัย กรณีเสียชีวิตเท่านั้น ผู้สูงอายุบางท่านซื้อเผื่อไว้ตอนเจ็บไข้ได้ป่วย จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน โดยไม่รู้ว่าเป็นการประกันเฉพาะกรณีเสียชีวิต เพราะไม่ได้มีข้อความในการโฆษณา จึงต้องมีความชัดเจน" นฤมลกล่าว
บริษัทต้องโปร่งใส คนซื้อต้องตรวจสอบ
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เสนอว่า อยากให้มีระบบการตรวจสอบของบริษัทก่อนออกกรมธรรม์ เมื่อมีการยื่นแถลงใบคำขอไปแล้วให้ทางบริษัทมีระบบตรวจสอบกลับไปยังผู้เอาประกันอีกที การส่งมอบกรมธรรม์ต้องตรวจสอบว่าข้อมูลที่ตัวแทนไปทำกับข้อมูลของผู้ซื้อประกันตรงกันไหม เพื่อให้ทุกอย่างตรงไปตรงมา
"เพราะคนที่เถียงบางทีไม่ใช่ผู้เอาประกันแต่เป็นทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์ กรณีผู้ทำประกันเสียชีวิต เขาไม่ทราบว่าตอนทำประกันคุยอะไรกันไว้ เถียงกันยากก็เป็นภาระผู้บริโภคที่ต้องไปฟ้องคดี ความโปร่งใสของบริษัทต้องมีและการจัดการกับตัวแทนที่อบรมมาแล้วมีปัญหาต้องมีอย่างเป็นรูปธรรมไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต"
ส่วนคนที่ซื้อประกัน นฤมลฝากไว้ว่า ประกันเป็นสิ่งที่ดี สร้างความมั่นคงให้กับลูกหลาน ถ้าตกลงทำประกันแล้วควรแถลงข้อมูลการรักษาพยาบาลอย่างตรงไปตรงมา ถ้าตัวแทนไม่ระบุก็เสนอให้เขาระบุ
"เมื่อได้รับกรมธรรม์ทุกครั้งควรตรวจสอบ ถ้าไม่ตรงกับที่พูดไว้ก็มีสิทธิปฏิเสธและคืนกรมธรรม์หรือขอให้บริษัทแก้ไข ณ วันที่รับกรมธรรม์เลย เพราะทายาทอาจไม่ทราบข้อมูลที่ผู้เอาประกันดำเนินการไว้ การกระทำทุกอย่างเป็นความเสี่ยง ตัดสินใจดีๆ บางท่านจ่ายไปสักพักแล้วไม่มีเงินจ่ายประกัน ขาดสิทธิประโยชน์ ต้องดูความพร้อมตัวเองด้วย" นฤมลกล่าว
ทั้งนี้ แม้ช่วงที่ผ่านมามีการพยายามแก้ปัญหาจากผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งส่งผลให้มีการปรับปรุงโฆษณาของแต่ละบริษัทแล้ว แต่ผู้บริโภคควรหาข้อมูลและตรวจสอบละเอียดเมื่อมีการทำสัญญา
อย่าปล่อยให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อ บนข้อตกลงที่ไม่ชอบธรรม
โดย วจนา วรรลยางกูร
ที่มา มติชน วันที่ 1 ธันวาคม 2558